ตามรอยพระยุคลบาทโดยทศพิธราชธรรม
ตามรอยพระยุคลบาทโดยทศพิธราชธรรม
วันที่ ๑๓ ตุลาคม ๒๕๕๙ พสกนิกรชาวไทยต่างเศร้าโศกอาลัยเมื่อได้ฟังประกาศสำนักพระราชวัง เรื่อง พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราชบรมนาถบพิตร เสด็จสวรรคต ด้วยทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจนานัปการตามพระปฐมบรมราชโองการว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” ตลอดรัชสมัยอันยาวนานทรงพระวิริยะอุตสาหะเพื่อความอยู่เย็นเป็นสุขของประชาราษฎร์และเป็นศูนย์รวมจิตใจ เหมือนเช่นที่ท่านพุทธทาสภิกขุกล่าวถึงสถาบัน ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ไว้ว่า “...ประเทศชาตินี้เหมือนร่างกาย, พระศาสนานั้นเหมือนจิตใจ, พระมหากษัตริย์นั้นเป็นระบบประสาทสัมพันธ์ระหว่างร่างกายกับจิตใจ; นั่นแหละคือชีวิต. ถ้าขาดความสัมพันธ์ในลักษณะนี้แล้ว มันก็คือความตาย...”
พระมหากษัตริย์ทุกพระองค์มีหลักธรรมที่จะต้องทรงไว้คือ ทศพิธราชธรรม พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระองค์ทรงไว้ด้วยดีตลอดพระชนม์ชีพ พุทธทาสภิกขุกล่าวว่า “แม้ว่าทศพิธราชธรรมจะมีชื่อเรียก ‘ธรรมสำหรับพระราชา’ แต่ประชาชนพสกนิกรทั้งหลายก็สามารถนำมาเป็นหลักประพฤติปฏิบัติได้ เมื่อประพฤติตามนั่นแหละจะเกิดโอกาสมากมาย สะดวกดายในการที่พระองค์ทรงดำรงอยู่ในทศพิธราชธรรม ทำให้มีทศพิธราชธรรมเป็นเครื่องคุ้มครองบ้านเมือง”
เมื่อพุทธศักราช ๒๕๓๐ เป็นปีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาครบ ๕ รอบ พุทธทาสภิกขุได้แสดงธรรมบรรยายชุดทศพิธราชธรรม ถ่ายทอดทางวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย ทุกวันอาทิตย์สัปดาห์ที่ ๓ เดือนละครั้งตลอดปี เพื่อเป็นเครื่องบูชาสักการะแด่สมเด็จพระบรมบพิตรพระราชสมภารแห่งสยามประเทศ ความตอนหนึ่งกล่าวว่า “คำว่า ‘ทศพิธราชธรรม’ เป็นธรรมสำหรับพระราชา กระทำให้มหาชนร้องออกมาว่า ‘พอใจ พอใจ’ ตามความหมายของคำว่า ‘ราชา ราชา’ ที่แปลว่า พอใจ ...และธรรมะเหล่านั้นเป็นธรรมะสำหรับมหาชนจะได้ดำเนินตามในการเดินตามรอยพระยุคลบาท ส่งเสริมให้มีการปฏิบัติที่ถูกฝาถูกตัวระหว่างผู้นำกับผู้ตาม จะง่ายในการที่บ้านเมืองจะมีสันติสุขส่วนบุคคลและมีสันติภาพของสังคม ผู้ที่เป็นประมุขเดินอย่างไร ผู้บริวารก็เดินตาม... ได้รับประโยชน์ร่วมกันทั้งหมดทั้งสิ้น
ทศพิธราชธรรมทั้ง ๑๐ ประการ
ข้อที่ ๑. “ทานัง” หรือทาน เป็นการให้ปันปัจจัยแห่งชีวิต อะไรเป็นปัจจัยของการดำรงอยู่แห่งชีวิต ก็ให้ปัจจัยเหล่านั้นทั้งในทางรูปธรรมและทั้งในทางนามธรรม ที่เป็นรูปธรรมก็หมายถึง วัตถุ สิ่งของ, ที่เป็นนามธรรม ก็หมายถึง ความรู้ ความฉลาด ความสามารถ ล้วนแต่เป็นปัจจัยแห่งชีวิต นี้เป็นข้อที่ ๑
ข้อที่ ๒. “สีลัง” หรือศีล แปลว่า ภาวะปกติ และเหตุปัจจัย หรือการจัดการที่ทำให้เกิดภาวะปกติ อุปมาเหมือนว่าก้อนหิน ก้อนศิลา มีความเป็นปกติ ความหมายนี้ใช้ได้กันกับคำว่าสีละหรือศีล ที่รักษาสมาทานกันอยู่ เหตุทำให้เกิดความปกติ แล้วก็เกิดความปกติ แล้วก็มีผลของความปกติ อยู่กันอย่างสงบสุข
ข้อที่ ๓. “ปะริจจาคัง” หรือบริจาค เป็นการให้ในภายใน ไม่ต้องมีผู้รับก็ได้ เป็นการให้สิ่งที่ไม่ควรมีอยู่ในตน เช่น การละกิเลส เป็นต้น ละความตระหนี่หวงแหน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ละความเห็นแก่ตน ทาน ให้วัตถุปัจจัยภายนอกมีตัวผู้รับ ปริจจาคะ ให้ปัจจัยภายใน ไม่ต้องมีตัวผู้รับก็ได้ ต่างกัน ไม่ใช่อย่างเดียวกัน ไม่ใช่ว่าให้ – ให้ด้วยกัน
ข้อที่ ๔. “อาชชะวัง” หรืออาชวะ คือความซื่อตรง ตรงต่อเพื่อนมนุษย์ ตรงต่อหน้าที่การงานแห่งความเป็นมนุษย์ ความซื่อตรงนี้เป็นเหตุให้เกิดความรัก สามัคคี ไว้ใจ วางใจ ซื่อตรงต่อเพื่อนมนุษย์ ก็อยู่กันอย่างสะดวกสบาย ความเป็นมนุษย์มีหลักเกณฑ์อย่างไร ซื่อตรงต่อความเป็นอย่างนั้น ปฏิบัติเพื่อความเป็นอย่างนั้น
ข้อที่ ๕. “มัททะวัง” หรือมัททวะ แปลว่า อ่อนโยน อ่อนโยนต่อบุคคล ซึ่งใครๆ ก็ชอบความอ่อนโยน...ทีนี้มีการอ่อนโยนทางจิต คือจิตที่อบรมไว้ดี มีความอ่อนโยนคล่องแคล่วที่จะทำการงานทางจิต จะคิด จะนึก จะรู้สึกอะไรก็คล่องแคล่ว เหมือนขี้ผึ้งที่อ่อนดีแล้วจะปั้นเป็นอะไรก็ง่ายอย่างนั้น ความอ่อนโยนทางจิต ความเหมาะสมแก่การงานทางจิตนี่เป็นสิ่งที่จะต้องระลึกนึกถึงกันให้มาก เดี๋ยวนี้จิตมักไม่ได้รับความอ่อนโยน ไม่ได้รับการปรับปรุงให้มีความอ่อนโยนมันก็ลำบาก
ข้อที่ ๖. “ตะปัง” หรือตบะ หมายถึง วิริยะที่เผาอุปสรรค เช่น อิทธิบาททั้ง ๔ มีแล้วก็เผาความไม่สำเร็จให้เกิดความสำเร็จ
ข้อที่ ๗. “อักโกธัง” หรืออโกธะ เราก็เห็นกันอยู่ว่าเป็นความไม่โกรธ แต่ตัวหนังสือละเอียดอ่อนกว่านั้น แปลว่า ไม่กำเริบ ไม่กำเริบในภายใน ทำให้ตนลำบาก ไม่กำเริบในภายนอก ทำให้ผู้อื่นลำบาก ไม่โกรธตัวเอง – ไม่โกรธผู้อื่น ก็คือไม่กำเริบในภายใน ไม่กำเริบในภายนอก
ข้อที่ ๘. “อะวิหิงสัง” หรืออวิหิงสา ไม่เบียดเบียนตนเอง ไม่เบียดเบียนผู้อื่น ไม่เบียดเบียนตนเองนี่บางคนยังไม่เข้าใจก็ได้ เพราะถือเสียว่าคนมันรักตัวเองแล้วมันจะเบียดเบียนทำไม นั่นแหละจะมีได้มาก เพราะไม่รู้ ไม่เข้าใจ มันก็ทำไปในลักษณะที่เป็นการเบียดเบียน แต่ความโง่เขลามันทำให้เป็นการเบียดเบียน ถ้าว่าเบียดเบียนไปถึงผู้อื่น เรื่องก็ร้ายกาจมาก
ข้อที่ ๙. “ขันติ” หรือขันติ ความอดทน คือ รอได้ คอยได้ ไม่กระวนกระวายใจ ถ้าไม่มีความอดทนมันก็เหมือนกับทรมานตัวเอง จะมีฉลาด เฉลียว ปัญญาวิเศษอย่างไร ถ้าไม่รอได้ ทนได้ มันก็จะเปล่าประโยชน์ เพราะประโยชน์มันไม่ออกมาทันที มันต้องมีโอกาสตามเวลาแห่งความสำเร็จ ต้องรอได้ทนได้เหมือนกับทำนา มันต้องรอได้จนกว่าจะออกเป็นข้าวออกมา อีกอย่างหนึ่ง ขันติ แปลว่า สมควร สมควรที่จะได้รับความสำเร็จ มันก็หมายถึงอดทนนั่นแหละ
ข้อที่ ๑๐. “อะวิโรธะนัง” หรืออวิโรธนะ ข้อนี้แปลว่า ไม่มีอะไรพิรุธที่ผิดไปจากแนวแห่งความถูกต้อง อวิโรธนะขอให้หมายถึงความไม่มีอะไรพิรุธเป็นความถูกต้อง เป็นคุณธรรมระดับปัญญา ถ้าแปลเป็นอย่างอื่นไปเสียแล้ว ธรรมะทั้งชุดนี้ก็จะขาดปัญญาซึ่งเป็นไปไม่ได้ สิ่งที่เรียกว่าปัญญานี้จะมาเป็นตัวสุดท้ายของหมวดเสมอ...ถ้าไม่มีการพิรุธหรือผิดพลาด ก็หมายความว่ามีปัญญา ...ความรู้ไม่พิรุธ ความเข้าใจไม่พิรุธ อะไรๆ ก็ไม่พิรุธ เพราะอำนาจแห่งปัญญา”
“หลักสำคัญทั้งหมดมีอยู่ในทศพิธราชธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เรียกว่าไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา เป็นตัวพรหมจรรย์ในพระพุทธศาสนา ดังนั้นทศพิธราชธรรมประกอบอยู่ด้วยไตรสิกขาอย่างครบถ้วนบริบูรณ์ ในหมวดศีล ก็มีคำว่า ทานัง สีลัง อะวิหิงสัง ในหมวดสมาธิ ก็มีคำว่า ปะริจจาคัง อาชชะวัง มัททะวัง ตะปัง อักโกธัง ขันติ ในหมวดปัญญา ก็มีคำว่า อะวิโรธะนัง ความไม่มีอะไรพิรุธ ขยายออกไปได้เป็นความถูกต้อง ๑๐ ประการ แม้ว่าจะดูเป็น ปุญญกิริยา ๓ คือ ทาน ศีล ภาวนา ก็ครบ แม้จะดูเป็นกุศลกรรมบถ ทางกาย ทางวาจา ทางใจ ก็มีอยู่ครบ”
แม้วันนี้พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชจะเสด็จสู่สวรรคาลัย หากพระราชจริยวัตร พระราชกรณียกิจที่ทรงบำเพ็ญมาตลอดรัชสมัยจักเป็นรอยทาง รอยธรรมให้พสกนิกรใต้ร่มพระบารมีก้าวเดินตามพระองค์ท่าน เราต้องเปลี่ยนความโศกเศร้านี้ให้เป็นพลังที่จะตามรอยพระยุคลบาทโดยทศพิธราชธรรม น้อมนำหลักธรรมที่พระองค์ประพฤติน้อมนำมาสู่การปฏิบัติที่กาย วาจา ใจ ของเรา ส่งเสริมให้ทศพิธราชธรรมแผ่ไพศาลครอบคลุมทั่วประเทศ เพื่อจะได้ช่วยกันทำประโยชน์แก่ส่วนรวมเป็นกำลังแห่งแผ่นดิน สมตามพระนาม “ภูมิพล พลังแห่งแผ่นดิน” ที่เหล่าพสกนิกรเคารพเทิดทูน เมื่อนั้นพระองค์ยังคงสถิตอยู่ในดวงใจพวกเราทุกคนตราบกาลนาน.
ประมวลเรียบเรียง สมบัติ ทารัก
เจ้าหน้าที่จดหมายเหตุ
หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ
หมายเหตุ ดาวน์โหลดเอกสารจดหมายเหตุ ชุด ทศพิธราชธรรม ตามรอยพระยุคลบาทโดยทศพิธราชธรรม ได้ที่
http://www.bia.or.th/html_th/site-content/65-archives/615-9.html