สรุปสาระสำคัญในปาฐกถานำ “งานวัดวิถีใหม่" โดย พระเทพพัชรญาณมุนี (ชยสาโรภิกขุ)

เนื่องในโอกาสครบรอบ 10 ปี 'สวนโมกข์กรุงเทพ' ได้มีการจัด งานวัดวิถีใหม่ (Some New Way of Wat's Work) เมื่อวันพุธที่ ๒๔ มีนาคม ที่ผ่านมา ซึ่งตรงกับโอกาสครบรอบ ๑๐ ปี ที่ 'สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี' เสด็จพระราชดำเนินเปิดหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เมื่อวันที่ ๒๕ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๕๔ โดยในงานได้มีการนำเสนอโมเดลในการจัดการวัดให้สมสมัยและทบทวนว่าวัดมีไว้เพื่ออะไร, เราช่วยวัดอะไรได้บ้าง, กรณีที่วัดหรือองค์กรพุทธบริหารจัดการได้ดีแล้ว ก็สามารถนำมาเป็นโมเดลให้กับวัดในประเทศไทยได้อย่างไร

ในโอกาสนี้พระเทพพัชรญาณมุนี (ชยสาโรภิกขุ) ได้กล่าวปาฐกถานำ โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้

ด้านการเผยแผ่พระพุทธศาสนา

"...อาตมาเข้ามาอุปสมบทในเมืองไทยตั้งแต่ปี 2521 โดยมีความตั้งใจจะบวชตลอดชีวิต และจะอยู่ในเมืองไทยตลอด จะไม่จำพรรษาที่ประเทศอื่น เพราะว่าตั้งแต่เกิดศรัทธาและก็มีความประสงค์จะเป็นพระภิกษุในเมืองพุทธ ไม่เคยสนใจและไม่เคยมีแรงดลบันดาลใจที่จะเผยแผ่ในต่างประเทศ เพราะอาตมาก็มีความเชื่อตั้งแต่ต้นมาว่า อนาคตของพุทธศาสนาไม่ได้อยู่ในตะวันตก อนาคตคงพุทธศาสนาอยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะเมืองไทย ลาว เขมร ศรีลังกา จำนวนชาวต่างชาติที่หันมาสนใจศึกษาพระพุทธศาสนาก็เพิ่มขึ้นทุกปี แต่ข้อเท็จริงก็เป็นจำนวนนิดเดียว ถ้าเทียบกับชาวพุทธในเมืองไทย 50 กว่าล้านคน

การพัฒนาสิ่งใหม่

"การทางที่จะพัฒนาสิ่งใหม่ขึ้นมาไม่ว่าในบริบทไหนก็ตาม เราต้องเรียนรู้เรื่องอดีตให้ดีเสียก่อน เพราะปัจจุบันก็เป็นผลของอดีต เหตุปัจจัยต่างๆ ที่เป็นเหตุให้เกิดปัญหาในอดีต มีอะไรบ้าง ตั้งแต่ยุคไหน เป็นต้น ดังนั้นการที่จะสร้างสิ่งใหม่ ต้องดูที่ “นั่งร้าน” ก่อน ว่า “นั่งร้าน” นั้นมั่นคงไหม ถ้าพื้นฐานนั่งร้านไม่มั่นคง จากความเข้าใจผิดหรือความไม่เข้าใจหลายอย่าง ก็คงยากที่จะเป็นประโยชน์ในระยะยาว"

การขาดข้อมูลในการพัฒนาพุทธศาสนา

"มักจะมีญาติโยม กล่าวถึงความเสื่อมของศาสนาบ่อยๆ อาตมาเลยสนใจ ถามว่า…อาตมาก็อยากจะทราบเหมือนกันว่ามันเสื่อมอย่างไร เพราะว่าอาตมาไม่มีข้อมูลมากพอจะสรุปได้ โยมอาจจะมีข้อมูลมากกว่าอาตมา ว่าเสื่อมอย่างไร ที่มีข่าวเรื่องพระประพฤติไม่ดี ทุกวัน ทุกวัน แล้วพระที่โยมรู้จักเป็นการส่วนตัว มีสักกี่รูป วัดที่โยมเข้าประจำ จนกล้าวิจารณ์ได้ มีกี่วัด เพราะสำหรับอาตมาน้อยมากเลย

สมมติว่า พระสงฆ์มี 3 แสนรูป สมมุติว่าดีหมด 99% ไม่ดี 1% และ 1% ใน 3 แสนรูป ก็ 3 พันรูป การจะเอาข่าวเรื่องพระที่ไม่ดี 3,000 รูป ลงหนังสือพิมพ์ มีเรื่องอื้อฉาวออกมาทุกวัน ไม่ขาดเลย สุดท้าย เราอาจจะสรุปตัวเองด้วยสามัญสำนึกว่า…พุทธศาสนาหมดสภาพเลย ข่าวนี้จะเป็นสิ่งสะท้อนปัญหาของสถาบันมากน้อยแค่ไหน อันนี้ก็เป็นเรื่องที่ยังไม่กล้าสรุป

เรื่องของศาสนาจะมีบางเรื่องที่เป็นวัตถุธรรมและเป็นสิ่งที่เราประเมินได้ วัดได้ เอาเป็นตัวเลขได้ แต่หัวใจของศาสนาเป็นเรื่องนามธรรม ซึ่งเราไม่มีทางที่จะประเมินได้ ก็เป็นปัญหาของนักปฏิบัติอยู่เสมอว่าไม่มั่นใจว่าก้าวหน้าหรือถอยหลังกันแน่ เพราะไม่มีเครื่องชี้วัดที่ชัดเจน

ข้อมูลเกี่ยวกับพระสงฆ์ในประเทศไทย สถิติต่างๆ แทบจะไม่มี แม้แต่ว่าพระโดยเฉลี่ยอยู่ในผ้าเหลืองกี่ปี กี่พรรษา อยู่ตลอดชีวิตกี่เปอร์เซ็นต์ สาเหตุที่ลาสิกขามีอะไรบ้าง สถิติแบบพื้นฐาน และถ้ามี… อาตมาอาจจะขาดความรู้ก็ได้ แต่เท่าที่ทราบและไม่เคยเห็นว่ามีรายละเอียด ทีนี้เรา…ถ้าเราจะพัฒนาสถาบันสงฆ์นี้แล้วก็ต้องมีข้อมูลที่ไว้ใจได้เพื่อจะได้รู้ว่าจุดอ่อนตรงไหนอย่างไร"

งานวัดวิถีใหม่ต้องเข้มงวดเรื่องวินัยสงฆ์เพราะเกี่ยวเนื่องกับศรัทธาที่มีต่อพระพุทธศาสนา

อาตมาได้อุปสมบทในสายที่อนุรักษนิยมที่สุดคือสายวัดป่า แต่ในขณะเดียวกัน ก็พยายามเข้าใจพระที่อยู่สายอื่นและตอนหลังก็มีเพื่อน มีความเข้าใจ มีความเคารพนับถือมากขึ้น ซึ่งเป็นปัญหาที่ต้องระวังอยู่เสมอตั้งแต่สมัยพุทธกาล พระสายปฏิบัติ พระสายปริยัติไม่ค่อยจะถูกกัน หลังๆ รู้สึกจะดีขึ้น อันนี้ก็เป็นนิมิตหมายที่ดี ในคามวาสี อรัญญวาสี สมานสามัคคีกัน
 
อย่างไรก็ตามในสายของอาตมานั้น เราก็เน้นพระวินัยและอาตมาก็ถือว่าถ้าเราไม่พูดถึงวินัยของสงฆ์เลยก็คงยาก จะพูดก็กลัวกระทบกระเทือน แต่อาตมาจะขอพูดแค่ 2 ข้อที่ฝากไว้
 
ข้อ 1 ก็เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างพระสงฆ์กับเอกลาภ กับเงินกับทอง อาตมารู้สึกมีความมีความสุขอย่างยิ่ง ที่ไม่ต้องจับเงินกับทอง ไม่ต้องยุ่งกับมันเลย แล้วเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้มีความภาคภูมิใจ ในความเป็นสมณะ ความรู้สึกในการเป็นสมณะ ขึ้นอยู่กับการไม่ยุ่งกับเงินกับทองมาก
 
ปัญหามากมายที่เกิดขึ้นใน 50-100 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ชาวบ้าน ลูกศิษย์วัด มีเงิน มีทองมากขึ้น ชาวบ้านสมัยก่อน ชาวบ้านเองก็ไม่มีเงิน พระเรารับเงินก็ไม่มีความหมาย เพราะว่าไม่มีใครถวาย สังคมก็เปลี่ยนแปลงไป ถ้าเราพูดถึงการจะปรับปรุงแก้ไข แล้วจะพัฒนาต่อไป ประเด็นนี้ต้องต้องพูดคุยกันว่าจะเอาเอายังไงกันดี
 
ข้อที่ 2 เรื่องไม่ทราบว่าเราได้ติดตามข่าวต่างประเทศเกี่ยวกับเรื่องปัญหาในศาสนาคริสต์ เกี่ยวกับบาทหลวง ละเมิดเด็กทางเพศเป็นเรื่องหนักมากและทำลายความเชื่อถือ ความไว้วางใจ ในศาสนามาก ซึ่งตัวอย่างที่ดีประเทศไอร์แลนด์ เมื่อ 30-40 ปีที่แล้วในยุโรป เป็นประเทศที่ยังเข้มงวดที่สุดหรือว่าศรัทธาแรงที่สุด ตอนนี้พลิกกลับมาเลย เพราะการสมคบพฤติกรรมของบาทหลวงและแม่ชีที่สังคมรับไม่ได้ แต่ที่ทำให้คนหันหลังให้ศาสนา รังเกียจศาสนา อคติต่อศาสนามากที่สุด เพราะมีหลักฐานว่าผู้ใหญ่ปิดบังอำพราง ปกป้องบาทหลวงมีพฤติกรรมร้ายในในโบสถ์หนึ่ง ย้ายมาอีกโบสถ์หนึ่ง ต่อมาก็ย้ายซ้ำๆ บางทีบาทหลวงก็มีเรื่องทำลายชีวิตของเด็ก 10 กว่าแห่ง โดยผู้ใหญ่หลับหูหลับตา เพราะกลัวจะมีผลกระทบต่อชื่อเสียงของศาสนาและศรัทธา
 
 
เผยแผ่ศาสนาโดยพระสงฆ์ปฏิบัติตนตามพระวินัย
 
สถาบันสงฆ์ เป็นระบบอาวุโสที่พิเศษอยู่ 2 ข้อ

ข้อ 1 ทุกคนที่อยู่ในระบบอยู่ด้วยความสมัครใจเพราะไม่มีใครบังคับให้เราออกบวช

ข้อ 2 วินัย ไม่มียกเว้นสำหรับผู้ใหญ่ พระผู้ใหญ่ พระเถระ มหาเถระ บวช 30 ปี, 40 ปี, 50 ปี อาจจะเป็นพระอริยเจ้าก็ตาม แต่ท่านยังแต่งตัวเหมือนวันแรกที่ออกบวช ปัจจัย 4 ก็แทบจะไม่ต่างกัน แต่ที่สำคัญก็คือขั้นตอนปฏิบัติตามหลักพระวินัย สิขาบทในพระปาฏิโมกข์ทั้งหมด ซึ่งเทียบกับพุทธศาสนาฝ่ายวัชรยาณ เป็นต้น มักจะมีความเชื่อว่าถ้าผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ถึงขั้นที่จิตหลุดพ้นแล้ว ไม่ต้องรักษาวินัยก็ได้ เพราะยังไงๆ จิตใจของท่านว่างแล้ว มันจะไม่มีมลทินเหมือนพวกเรา หากเห็นผู้ใหญ่ทำอะไรที่ดูน่าเกลียดว่าไม่เหมาะสม ก็ต้องโทษตัวเอง ว่าเราไม่สามารถจะรู้ จะเข้าใจจิตใจ ของผู้ที่หลุดพ้นไปแล้ว ท่านเหนือบุญเหนือบาปไปแล้ว ตัดสินไม่ได้ วิจารณ์ท่านไม่ได้

ความคิดอย่างนี้เป็นเหตุที่อาตมาตัดสินใจไม่บวชที่ทิเบต ชอบที่สุดว่าครูบาอาจารย์เมืองไทย ถือว่าอายุพรรษามากน้อยแค่ไหน ต้องเป็นตัวอย่าง ซึ่งเรื่องนี้มีพระมหากัสสปะเป็นต้นฉบับที่ท่านไม่ยอมละธุดงกับวัด ทั้งๆ ที่พระพุทธองค์เอง ชักชวนขอร้องว่าแก่แล้ว ไม่ต้อง แต่พระมหากัสสปะก็ตอบว่าต้องรักษา ไม่ได้รักษาเพื่อตัวเอง แต่รักษาเพื่อเป็นตัวอย่างแก่อนุชนรุ่นหลัง

ฉะนั้นการทำประโยชน์ของพระผู้ใหญ่ พระมหาเถระ ส่วนหนึ่งคือ บางสิ่งบางอย่าง ถ้าไม่ทำ ก็ไม่เป็นไร จิตใจของเรา ก็คงไม่หวั่นไหว ไม่เศร้าหมองก็ได้ แต่เรายังทำอยู่ เพื่อเป็นตัวอย่างที่ดี ทั้งแก่ลูกศิษย์ลูกหาในปัจจุบัน และแก่อนุชนรุ่นหลัง

ดังนั้นในการที่พระสงฆ์เราเป็นตัวอย่างที่ดี ในทางพระวินัย เป็นส่วนสำคัญในการเผยแผ่พุทธศาสนา ไม่ว่าในเมืองหรือระดับชาวบ้าน

เรื่องของวินัยอาตมาว่าสำคัญมาก อย่างอาตมาตั้งแต่อาตมาอุปสมบท 2-3 ครั้ง ก็ได้เดินธุดงค์ในประเทศอินเดีย แต่ละครั้งก็หลายร้อยกิโลเมตร เดินองค์เดียว อาตมาก็ไม่เคยอด ไม่เคยขาดอาหาร เพราะชาวบ้านเขายินดีถวายอาหารทุกเช้า บิณฑบาตก็ไม่เคยมีปัญหา สิ่งที่เขาศรัทธา เขาไม่ได้ศรัทธาในธรรมะเท่าไหร่ อาตมาไม่รู้ภาษาเขา อาตมาถ่ายทอดหรือสื่อสารกับเขาก็ไม่ค่อยจะได้ แต่เพราะเรารู้ว่าเป็นพระในพุทธศาสนา เป็นพระที่ฉันมื้อเดียว ฉันแต่อาหารที่บิณฑบาต ไม่รับเงินรับทอง ศรัทธาทันที

พฤติกรรม วิถีชีวิตของเรานี่ก็คือ “ตัวเผยแผ่” ถ้าหากเราเองก็สอนเรื่องความสันโดษ ความมักน้อย การรู้จักพอดี เป็นต้น แต่เราก็อยู่แบบไม่สันโดษ ไม่พอดี คำพูดไม่มีน้ำหนัก

เมื่อ 300-400 ปีที่แล้วก็มีบาทหลวง นักเผยแพร่ศาสนาคริสต์ฝ่ายคาทอลิกมาเมืองไทย แล้วบางท่านก็เขียนไดอารี่บันทึกข้อความ ที่อาตมาเคยอ่านแล้วประทับใจ บาทหลวงคนหนึ่งเขียนถึงพระเจ้าหลุยส์เท่าไหร่จำไม่ได้ น่าจะหลุยส์ 14 ว่าคงไม่ได้ผลที่นี่ เพราะ สู้พระในพุทธศาสนาไม่ได้ ชาวบ้านที่นี่เขาเชื่อพระ เขาเห็นพฤติกรรมของบาทหลวงซึ่งดื่มเหล้า ดื่มไวน์มั่ง อะไรมั่ง เทียบกับวิถี เทียบกับพระสงฆ์ เขาไม่ศรัทธา เขียนอยู่ในหนังสือที่เขาพิมพ์ไว้ ดังนั้นการวางความสัมพันธ์กับชาวบ้านในทางที่เหมาะสม ถูกต้อง เป็นส่วนสำคัญในการสร้างอนาคตของพุทธศาสนา

ประเทศเขมร เป็นประเทศที่น่าสนใจ เดิมเป็นมหายาน และเปลี่ยนจากมหายานเป็นเถรวาท นักวิชาการชาวต่างชาติเขียนวิจัยเรื่องนี้ แต่ท่านวิจัยว่าเหตุผลก็คือทางฝ่ายมหายานซึ่งจะเน้นพิธีกรรมมากและคลุกคลีคนชั้นสูงอยู่ในเมืองมาก ซึ่งห่างไกลจากชาวบ้าน อย่างที่หลวงพ่อสมเด็จพูด ส่วนพระในไทยสายเถรวาทอยู่กับรากหญ้า อยู่กับชาวบ้าน ธุดงค์ออกบิณฑบาตทุกวัน การบิณฑบาตสำคัญมากในการรักษาพุทธศาสนาไว้นะ เรื่องบิณฑบาต เรื่องธุดงค์ เรื่องสร้างความสัมพันธ์ที่เหมาะสมแต่อบอุ่น ด้วยมีการแลกเปลี่ยน ที่พระเป็นตัวอย่างในทางศีลธรรม เป็นผู้ให้ข้อคิด เป็นผู้ที่ให้กำลังใจ ญาติโยมเป็นผู้ที่ดูแลเรื่องปัจจัย 4 ในขณะเดียวกันไม่ถือว่าเป็นหน้าที่ แต่อยู่ที่การให้ทานเท่านั้น แต่พระสงฆ์นี้ต้องพยายามให้กำลังใจว่าทานนี้มันดีแล้ว อนุโมทนา แต่ให้ทาน ต้องมีศีลด้วยนะ ศีลอย่างเดียวไม่พอนะ ต้องภาวนา ดังนั้น พุทธศาสนาของเราจะเจริญหรือเสื่อมอยู่ 3 ข้อนี้ เรื่องทาน เรื่องศีล เรื่องภาวนาต้องให้ครบ เริ่มปริยัติ เรื่องปฏิบัติและเรื่องเผยแผ่