Recommend Print

ทุกคืนวันเพ็ญ ขอเชิญปฏิบัติธรรมเป็นพุทธบูชา เพ็ญภาวนา “ชาคริยานุโยค”

เพ็ญภาวนา “ชาคริยานุโยค”

 แสงธรรม ณ สวนโมกขกรงเทพ

ลงทะเบียนเข้าร่วมกิจกรรม คลิ๊กที่นี่

วิถีการปฏิบัติ “ชาคริยานุโยค”  เป็นการปรารภความเพียรแห่งธรรมอันเป็นเครื่องตื่น ชำระจิตให้หมดจดจากกิเลส ผ่านการเจริญสติอิริยาบถเดินและนั่งในยามแรกแห่งราตรี แล้วนอนอย่างราชสีห์ (ตะแคงขวา เท้าเหลื่อมเท้า มีสัมปชัญญะในการลุกขึ้น) ในยามกลาง ก่อนจะภาวนาในยามสุดท้าย ด้วยอิริยาบถเดินและนั่งอีกครั้ง

การที่อดทนไม่ไปพักผ่อนหลับนอนนี้ เพื่อประโยชน์อะไรกัน

การที่พวกเราเห็นแก่นอนเกินไป มันก็เกิดนิสัยชนิดหนึ่งขึ้นมา คือจิตใจที่มัน ที่มักจะซึม ๆ ที่มักจะทื่อ ๆ ไม่เฉียบแหลม เพราะมันมีนิสัยชวนไปแต่ในทางที่จะหยุด เหมือนคนขี้นอน คนนั้นจะมีนิสัยอย่างไรขอให้ไปสังเกตดูให้ดี ๆ

พวกขี้นอนก็คงจะเถียงว่า ไปนอนเสียให้สบายตามที่มันควรจะนอน แล้วก็คิดอะไรออกเหมือนกัน เหมือนคนสมัยนี้เขาก็นอนตามสบายใจ เขาก็คิดอะไรออกเหมือนกัน ข้อนี้มันก็น่าจะเป็นอย่างนั้น แต่มันก็ไม่ถูกทั้งหมด หมายความว่า ถ้าคิดอะไรออก มันก็ออกไปอีกแบบหนึ่ง ไม่ได้ออกอย่างเดียวกับบุคคลที่มีความเข้มแข็งในการบังคับจิตใจหรือบังคับระบบประสาทให้เข้มแข็ง

เรื่องนอนนี้เรื่องหลับนี้ไม่มีความหมายอะไรไม่เป็นปัญหา ถ้าทำได้อย่างนี้ ในความคิดที่คิดออกนั้นมันก็เป็นไปในทางนี้ เป็นในทางที่ช่างข่มขี่กิเลส คนเห็นแก่นอนมัวเมาในการนอน ก็คิดอะไรออกเหมือนกัน แต่ก็จะคิดเป็นไปในทางที่เป็นเหยื่อแก่กิเลส นี่คือความแตกต่างกัน เพราะฉะนั้นจึงอยากจะแสดงความคิดเห็น ซึ่งเป็นการแนะนำว่าควรจะฝึกฝนให้คุ้นเคยกันเสียบ้างในการที่บางคราวไม่ต้องนอน อย่าให้มันน้อยหน้า เป็นที่ละอายแก่บุคคลธรรมดา บางคนนั่งเล่นไพ่จนสว่างก็ได้ ไม่เห็นมันง่วงนอน นั่งเล่นหมากรุกจนสว่างก็ได้ ไม่เห็นมันง่วงนอน อย่างนี้ก็เคยมี ลองพิจารณาดูแล้วจะเห็นว่า เล่นไพ่ เล่นหมากรุกได้ จนสว่างไม่ง่วงนอนนั้น มันอยู่ได้ด้วยอำนาจของอะไร มันก็อยู่ได้ด้วยอำนาจของจิตที่เพ่งจ้องอยู่ในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เป็นอารมณ์ที่รุนแรง มันก็เลยไม่ง่วงนอน อย่างนี้ทำไมเราจึงไม่เพ่งจ้องในการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ให้เป็นอารมณ์ที่รุนแรงถึงขนาดนั้นบ้าง มันจะได้ไม่รู้สึกง่วงนอน เมื่อทราบความจริงอย่างนี้แล้วก็คงจะแก้ปัญหานี้ได้มาก คือ ขจัดการเห็นแก่นอนได้ ในเมื่อจะฝึกฝนการปฏิบัติเกี่ยวกับจิตใจ เช่น เกี่ยวกับสมาธิภาวนา เป็นต้น

ในพระพุทธศาสนามีคนหลายคน มีพระหรือเณรหลายองค์ มาถามอาตมาว่า ทำไมพอลงมือทำสมาธิ มันก็ง่วงนอน ถ้าไม่ทำสมาธิมันก็อยู่ได้สบาย แต่พอลงมือทำสมาธิ มันก็ง่วงนอน นั่นแหละคือผลของการเป็นนักนอน ถ้าคนพวกนี้มาฝึกฝนบทเรียนอันนี้ อย่างที่กำลังทำอยู่นี้ ไม่เห็นแก่นอนกันเสียให้มากพอ นิสัยมันก็จะเปลี่ยนไป ร่างกายล้วน ๆ มันก็จะเปลี่ยนไป เป็นการบังคับได้ เข้มแข็งสดชื่นอยู่ได้ ไม่รู้สึกง่วงนอนในการที่จะทำสมาธิเป็นต้น เดี๋ยวนี้มันไม่นิยมการบังคับตัวเองในลักษณะอย่างนี้ อยากนอนก็นอนได้ตามใจ ไม่มีใครบังคับได้ แล้วมันก็นอน แล้วมันก็เกิดเป็นนิสัย พอถึงคราวที่ไม่ต้องการจะนอน ไม่อยากให้มันนอน มันก็นอนสิ ก็ทำไม่ได้ ก็สมน้ำหน้ามัน ที่มันอยากจะนิยมชมชอบในการนอน

ถ้าเราจะสังเกตดูที่พระพุทธเจ้าในการที่ทรงกระทำความเพียรแล้ว จะพบข้อเท็จจริงอันหนึ่งว่า ชาคริยานุโยค คือ การประกอบความเพียรของบุคคลผู้ตื่นอยู่เสมอนั้น เป็นความลับในการที่พระองค์ประสบความสำเร็จ เพื่อตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ การที่พระองค์ทรงออกไปอยู่ในที่อันสงัด กระทำความเพียรเป็นเวลานาน ๆ นั้น มันต้องมีความอดกลั้นอดทนหรือมากกว่าที่พวกเราต้องอดกลั้นอดทนในที่นี้ในเวลานี้ คือเพิ่งจะอดทนวันนี้แล้วก็ยังไม่ถึงคืนหนึ่งสักที เรียกว่าถ้าจะถือธุดงค์เนสัชชิกังคะ ก็ยังไม่สำเร็จสักที หรือจะประกอบความเพียรที่เรียกว่า ชาคริยานุโยค ก็ยังไม่กี่มากน้อย ก็ขอให้นึกข้อที่ว่า พระพุทธเจ้าท่านทรงประกอบความเพียรเกี่ยวกับการไม่รู้จักหลับจักนอนนี่มันมากมายมหาศาล ถึงแม้พระศาสดาแห่งศาสนาอื่นก็คล้าย ๆ กัน เรื่องนอนนั้นเห็นเป็นเรื่องที่เป็นอุปสรรคนะทำให้มึนชา ทำให้ง่วงเหงา ก็ต้องสามารถที่จะนั่งด้วยจิตใจแจ่มใสตลอดวันตลอดคืนเนื่องกันไปหลาย ๆวัน หลาย ๆ คืน กว่าจะคิดอะไรออก หรือมองเห็นอะไรชัดเจนลงไป ชนิดที่เรียกว่าเป็นการตรัสรู้ ดังนั้นการที่หัดฝึกหัดกันไว้บ้าง ย่อมจะเป็นการดี การฝึกหัดบังคับจิตให้แจ่มใส ไม่งัวเงียเพราะการนอนไว้ให้เป็นระยะยาว ๆ ให้บ่อย ๆ ให้มาก ๆ นั้นเป็นการดี ดังนั้นเราจึงถือเอาโอกาสเช่นนี้ เช่นในวันที่ประกอบพิธีวิสาขบูชาเป็นต้นนี้ มาฝึกหัดบทเรียนอันนี้ ก็คือบังคับจิตได้ ตลอดถึงบังคับกายได้ ไม่ต้องนอนก็ได้ ให้มันอยู่อย่างสดชื่น แจ่มใส เป็นเวลานาน ๆ เป็นโอกาสที่จะเกิดความคิด ความเข้าใจลึกซึ้ง มองเห็นอย่างแจ่มแจ้ง

พุทธทาสภิกขุ
ที่มา ธรรมเทศนา เรื่อง มหาการุณิโก สตถา สพพโลกติกิจฉโก (ความว่างและตำรายาแก้โรควุ่น) กัณฑ์ ๓
ปี พ.ศ. 2520 รหัสไฟล์เสียง 1215200601031

 

"....โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหลวงองค์ปัจจุบัน ทรงทำประโยชน์อย่างยิ่งแก่ศาสนา แก่ประชาชน แก่บ้าน แก่เมือง เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของประชาชน จึงเหนียวแน่นมั่งคงในการเป็นประเทศชาติ เป็นความมั่นคงของประเทศ เราได้รับประโยชน์นี้กันทุกคน
โดยเฉพาะในหลวงองค์ปัจจุบัน พยายามสร้างความเจริญในประชาชน ทรงมีเวลาว่างไปช่วยพัฒนาบ้านเมือง ทำอยู่ตลอดเวลา ความเจริญบ้านเมืองเกิดขึ้นเพราะความขวนขวายของในหลวงมีมาก เราต้องรับรู้เห็นใจในบุคคลผู้ประกอบกรรมดี อันเป็นประโยชน์สูงสุดและกว้างขวาง เราจึงนิ่งอยู่ไม่ได้ เพราะความรับรู้ในบุญคุณหรือประโยชน์ จึงทำการแสดงออกมาให้ปรากฎ ตามแบบประเพณีหรือทางธรรม ขอให้ตั้งใจ โดยจิตใจถวายบุญกุศลที่เราได้กระทำ ให้แก่บุคคลผู้เป็นพุทธศาสนูปถัมภก ไม่ว่าจะพระ เป็นชาวบ้าน อุบาสก อุบาสิกาก็ดี ให้อุทิศส่วนกุศลให้เป็นประโยชน์สุขแก่ในหลวง...."
พุทธทาสภิกขุ
ที่มา : ธรรมบรรยาย ปี พ.ศ. ๒๕๒๑

 

คุณสมบัติของผู้เข้าร่วม

๑.   มีความมุ่งมั่น ตั้งใจในการเจริญสติรูปแบบต่าง ๆ

๒.   สามารถเข้าร่วมได้ตลอดการฝึกปฏิบัติ มุ่งอยู่อย่างต่ำ กระทำอย่างสูง แบบสวนโมกข์

๓.   สามารถปฏิบัติตามกติกาในการปฏิบัติอย่างเคร่งครัด ปิดวาจาและงดใช้โทรศัพท์มือถือตลอดการอบรม

การเตรียมตัว

๑.    ผู้เข้าร่วมควรอาบน้ำมาก่อนเข้าร่วมกิจกรรม

๒.    การแต่งกายสำรวมด้วยกางเกงขายาว โดยไม่จำเป็นต้องเป็นชุดขาว

๓.   กรุณาเตรียม ถุงนอน หรือผ้าห่ม โลชั่นทาป้องกันยุง ยาประจำตัว ขวดน้ำดื่มส่วนตัว

 

วันเวลาและสถานที่

ทุกคืนวันเพ็ญ ขึ้น ๑๕ ค่ำ ของทุกเดือน ณ สวนพุทธธรรม

กำหนดการตลอดปี ๒๕๖๑ ตือ ๓๑ ม.ค., ๑ มี.ค.ม ๒๙ เม.ย., ๒๙ พ.ค., ๒๗ มิ.ย., ๒๗ ก.ค., ๒๖ ส.ค., ๒๔ ก.ย., ๒๔ ต.ค., ๒๒ พ.ย., ๒๒ ธ.ค.

กำหนดการ

ยามต้น

๑๘.๓๐ น.   ลงทะเบียน ณ สวนพุทธธรรม, ดื่มน้ำปานะ

๑๙.๐๐ น.   สวดมนต์ อานาปานสติสูตร

๑๙.๓๐ น.   กล่าวต้อนรับและปฐมนิเทศแนวทางปฏิบัติ โดย คุณวุฒิ วิพันธ์พงษ์ กลุ่มอยู่เย็นเป็นประโยชน์  

                ฟังธรรมบรรยายของพุทธทาสภิกขุว่าด้วยเรื่อง “ชาคริยานุโยค” 

๒๐.๐๐ น.   เริ่มการปฏิบัติเจริญสติอิริยาบถเดิน

๒๐.๒๐ น.   เจริญสติอิริยาบถนั่ง

๒๐.๕๐ น.   เจริญสติอิริยาบถเดิน

๒๑.๑๐ น.   เจริญสติอิริยาบถนั่ง

๒๑.๔๕ น.   เตรียมตัวขึ้นนอนอย่างมีสติ

สำหรับท่านใดไม่สะดวกอยู่ปฏิบัติค้างคืน สามารถกลับได้เมื่อจบช่วงเวลานี้

ยามกลาง

๒๒.๐๐ น. เจริญสติอิริยาบถนอนอย่างราชสีห์ ห้องประชุม ชั้น ๓ (ห้องพักชาย) และ ห้องปฏิบัติธรรม ชั้น ๒ (ห้องพักหญิง)
 
ยามปลาย

๐๒.๐๐  น.  ระฆังปลุก, ทำธุระส่วนตัว

๐๒.๑๕  น.  ทำวัตรสวดมนต์ อานาปานสติสุตตปาฐะ (ต่อ)

๐๓.๐๐  น.  เจริญสติอิริยาบถเดิน

๐๓.๓๐  น.  เจริญสติอิริยาบถนั่ง

๐๔.๑๕ น.  เจริญสติอิริยาบถเดิน

๐๔.๕๕ น. เจริญสติอิริยาบถนั่ง

๐๕.๕๕ น. สนทนาแลกเปลี่ยน

๐๖.๐๐ น.  จบกิจกรรม

 

สอบถามรายละเอียด

ธรรมภาคี กลุ่มอยู่เย็นเป็นประโยชน์ โทร. ๐๘ ๖๐๓๒ ๘๘๖๕ (คุณบรรจง)

Facebook กลุ่มอยู่เย็นเป็นประโยชน์