Recommend Print

ทำวัตร สวดมนต์

10863980 886616851369774 1378437291632170849 o

 

 ทำวัตรสวดมนต์อย่างไรและประโยชน์ของการทำวัตรสวดมนต์

เรื่องทำวัตรเช้าทำวัตรเย็นนี่ไม่มีประเพณีในครั้งพุทธกาล เรามาตั้งกันขึ้นในประเทศนี้ที่พุทธศาสนาเข้ามาถึง แต่ว่าการกระทำบางอย่างซึ่งรวมอยู่ในการทำวัตรสวดมนต์นี่มันมีในครั้งพุทธกาล นั่นคือการสาธยายธรรม ถ้าเธอมีปัญญาฉลาดสังเกตจะพบว่าที่เรียกว่าทำวัตรทำวัตรเย็นนี่ ที่จะทำ ที่กำลังจะทำ ทำวัตรเย็นนี่ ในการทำวัตรเย็นนั่น อย่างแรกที่สุดมันก็มีการสาธยายธรรมะที่เป็นหลักปฏิบัติ หรือสาธยายรายละเอียดของพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ ซึ่งก็กล่าวได้ว่าหรือเรียกได้ว่าเป็นสิ่งที่ต้องรู้และต้องปฏิบัติด้วยเหมือนกัน นี่เพื่อไม่ให้มันลืม เขาก็สาธยาย ในการสาธยายนั้นไม่ใช่ว่าไม่มีประโยชน์ มีประโยชน์คือไม่ลืมไง ไม่ลืม ทีนี้มันมีดีกว่านั้นซึ่งอาจไม่เคยได้ยินก็ได้ เขาเรียกว่าทางแห่งวิมุต วิมุตตายตนะ ทางที่จะติดต่อกับวิมุต

เมื่อภิกษุฟังธรรม ฟังธรรมอยู่ก็ดี เมื่อบุคคลฟังธรรมอยู่ก็ดี แสดงธรรมอยู่ก็ดี สาธยายธรรมอยู่ก็ดี คิดนึกธรรมอยู่ก็ดี เจริญภาวนาอยู่ก็ดี ห้าอย่างนี้มันเป็นทางแห่งวิมุต

ข้อแรกเมื่อภิกษุฟังธรรม เข้าใจธรรม ซึมซาบในธรรม เกิดปราโมทย์เกิดปีติ เกิดสุข เกิดสมาธิตามลำดับ เกิดสมาธิแล้วก็เกิดยถาภูตญาณทัสสนะ เห็นธรรมตามที่เป็นจริง มันก็เกิดนิพพิทา วิราคะ และวิมุต ภิกษุเป็นผู้ฟังธรรม บุคคลฟังธรรม จิตไปตามแนวนั้น

ทีนี้เมื่อบุคคลแสดงธรรมให้ผู้อื่นฟังอยู่ ไม่ใช่ฟังธรรมนะแต่เป็นผู้แสดงเสียเอง แสดงไปคิดนึกไปใคร่ครวญไป แสดงไปอย่างลึกซึ้งมันถึงจุดที่ว่าเข้าใจธรรมที่แสดง พอใจ มีปราโมทย์ มีปีติ มีความสุข มีสมาธิขึ้นมาโดยความพอใจ แล้วก็มียถาภูตญาณทัสสนะเห็นธรรมที่เป็นจริงเพราะจิตเป็นสมาธิแล้ว ก็เกิดนิพพิทา เบื่อหน่ายราคะคลายกำหนัด จิตจะหลุดพ้นจากสิ่งที่ยึดถือ นี่อย่างที่สองเป็นผู้แสดงธรรม

อย่างที่สามสาธยายธรรมนี่ก็เอาธรรมะมาสาธยายอยู่ ซึมซาบในธรรมะนั้น โดยเฉพาะเกิดความปีติปราโมทย์ ก็เป็นสุขชนิดที่จะทำให้เกิดจิตเป็นสมาธิ เป็นสมาธิก็เห็นตามที่เป็นจริงคือยถาภูตญาณทัสสนะ มันเกิดความเบื่อหน่ายคลายกำหนัดและหลุดพ้น เมื่อสาธยายธรรมอยู่แท้ๆ ก็เป็นโอกาสที่ให้บุคคลมีจิตชนิดนั้น คือแจ่มแจ้งในธรรม มีปราโมทย์มีปีติมีสุขมีสมาธิ แล้วก็มียถาภูตญาณทัสสนะ มีนิพพิทาวิราคะแล้วก็มีวิมุต ส่วนคิดธรรมะ ภาวนาวิปัสสนานั้นจะไม่พูดถึงเพราะมันยังไม่เกี่ยวกัน

ทีนี้ว่าเราฟังธรรมก็ดี เราแสดงธรรมเองก็ดี เราสาธยายธรรมอยู่ก็ดี สามอย่างนี้เหตุให้เกิดเป็นโอกาสสำหรับจิตใจที่จะรวมกันเป็นสมาธิ เห็นธรรมตามที่เป็นจริงแล้วก็วิมุตได้

ทีนี้ในการทำวัตรเช้าวัตรเย็นนี้มันมีสาธยาย ถือว่าบทสวดของเรานี่มันเป็นบทสาธยายก็จะต้องทำให้เป็นการสาธยายที่ดี ด้วยจิตที่สำรวมดี คือนั่งให้ดี สำรวมจิตให้ดี ตั้งสติให้ดี แล้วก็สาธยายด้วยความรู้สึกที่สมบูรณ์ก็เป็นการสาธยายที่ดี ปะเหมาะมันซึมซาบในบทสาธยายนั้น เข้าใจในธรรม ก็พอใจ แล้วก็ปราโมทย์ บันเทิง ปีติ ปัตตะทิ คือ จิตสงบลงไปแล้วก็เป็นความสุขก็เกิดสมาธิ เกิดยถาภูตญาณทัสสนะ จึงถือว่าแม้ในโอกาสของการทำวัตรเช้าเย็นนี้ก็มีการสาธยายธรรมรวมอยู่ด้วย

ในสาธยายนั้นก็เป็นทางแห่งวิมุตทางหนึ่งในห้าทาง ขอให้ทำให้ดีที่สุดมันจะเพิ่มความสว่างไสวแจ่มแจ้งเพิ่มขึ้นในขณะที่ทำวัตร สาธยายบททำวัตรหรือบทมนต์ บทมนต์พิเศษบทอะไรก็ตามนี่มันก็ได้เพิ่มขึ้นไปอีกแหละ แล้วจิตมันก็เป็นสมาธิเป็นสติอยู่ในบทที่สวดนั้นแล้ว เพราะฉะนั้นไม่ต้องกลัวเรื่องกิเลส ไม่ต้องกลัวจะเกิดความคิดตัวตนเราเขาอะไร ขอให้เอาจิตผูกพันธ์ลงไปที่บทที่สาธยายนี่เป็นประการที่หนึ่งที่เรียกว่าทำวัตรสวดมนต์มันมีความหมายอย่างนี้

ประการที่สองจะเรียกว่าเป็นการทำสมาธิน้อยๆ ในระดับน้อย เป็นสมาธิในระดับน้อยเป็นหมู่ๆก็ได้ทั้งหมู่เลย เพราะว่าคนที่จะสวดออกไปอย่างถูกต้องมันต้องมีสมาธิ มันต้องมีจิตเป็นสมาธิในสิ่งที่สวด ในเสียงที่สวด ในเสียงที่ได้ยิน จิตก็ไม่ฟุ้งซ่านหนีไปอื่น ถ้าเราทำได้ในอย่างนี้ก็คือการปฏิบัตินี่ฝึกจิตให้แน่วแน่อยู่กับสิ่งที่สวด เธอนั่งสวดปากเธอว่าแต่ใจไปอยู่ที่ไหนก็ไม่รู้อย่างนี้ไม่มีสมาธิ ขอให้จิตอยู่กับบทที่สวดจนตลอดสิ อย่าให้เป็นว่าในระหว่างที่สวดจิตไปหนีไปเที่ยวที่โน่นที่นี่ ปากมันว่าได้เพราะมันเคยชินอย่างนี้ไม่มีสมาธิแล้ว ไอ้ปากที่ว่าต้องว่าด้วยจิตที่เป็นสมาธิอยู่ในบทที่ว่าตั้งแต่ต้นจนจบ อย่าให้เป็นว่าปากมันก็ว่าอยู่ว่าตามความเคยชินก็ถูกต้องแต่จิตไปอยู่ที่ไหนก็ไม่รู้

สังเกตดูให้ดีถ้าใครอยู่ในลักษณะอย่างนี้ก็ให้รู้เถอะว่ายังไม่พอยังไม่ถูก ต้องจัดการกันเสียใหม่ปรับปรุงตัวเองเสียใหม่ ให้เป็นว่าตั้งแต่ลงมือทำวัตรจนจบทำวัตรนี่จิตไม่เคยหนีไปไหนอยู่แต่กับบทที่สวดนี้เท่านั้น นี่เขาเรียกว่าทำสมาธิในตัวเป็นสมาธิอัตโนมัติ เรื่องสมาธินี่ไม่ใช่เรื่องเล็กน้อยนะ ไม่ใช่เรื่องเล็กน้อยเป็นเรื่องครึ่งหนึ่งไปแล้ว ศีล สมาธิ ปัญญา ขอให้ได้ผลชัดเจนลงไปว่าเมื่อทำวัตรสวดมนต์นี่ก็เป็นการทำสมาธิชนิดหนึ่งรวมอยู่ด้วย ทำกันเป็นหมู่เลย ทั้งหมู่เลย และต่างคนก็ต่างกำหนดสิ่งที่สวดเสียงที่สวดไม่ฟุ้งซ่านไปไหนก็เป็นสมาธิได้เหมือนกัน แม้จะเป็นสมาธิน้อยๆ มันก็เป็นปัจจัยที่จะทำให้ได้สมาธิที่มากขึ้นไปสูงขึ้นไปยิ่งขึ้นไปได้ จงตั้งจิตให้ดีตั้งแต่ลงมือสวดจนกว่าจะสวดเสร็จจงเป็นสมาธิอยู่ในเสียงที่สวดนั้นตลอดเวลา อย่าให้จิตหนีไปเที่ยวที่อื่นตั้งหลายสิบแห่งกว่าจะสวดทำวัตรจบ ปากสวดว่าได้ตลอดแต่จิตหนีไปเที่ยวที่อื่นเสียหลายสิบครั้ง อย่างนี้ล้มละลาย ไม่ได้อานิสงส์ส่วนที่เรียกว่าสมาธิ นี่เป็นเรื่องที่สอง

เรื่องที่สาม ขอให้เราสวดทำวัตรเป็นพุทธานุสติเพราะว่าเมื่อเรารู้คำแปลของบทที่สวด ทราบในพระคุณของพระพุทธเจ้าอย่างแท้จริง อย่างคล่องแคล่วอยู่แล้ว พอปากของเราว่าพระคุณนั้นออกไป อรหังก็ดี สัมมาสัมพุทโธก็ดี วิชชาจะระณะสัมปันโนก็ดี สุคะโตก็ดี โลกะวิทูก็ดี ขอให้รู้สึกในคุณของพระพุทธเจ้าอย่างนั้นจริงๆ มีพระคุณของพระพุทธเจ้ามาอาบรดอยู่ที่จิตใจของเราเมื่อเราว่าออกไปคำใดคำหนึ่ง

และเมื่อเราว่าบทของพระธรรม ก็ขอให้ความหมายแห่งพระธรรมบทนั้นมาอาบรดอยู่ที่จิตใจของเราก็ได้ หรือว่าให้เรามีความหนักแน่น แน่นแฟ้นย้ำลงไปในเรื่องของพระธรรมบทนั้นยิ่งๆขึ้นไปทุกทีที่เราสวดบทพระธรรมคุณอย่างนี้ก็ได้

หรือว่าเราสวดบทของพระสงฆ์ก็ให้รู้จักคุณของพระสงฆ์ คือมนุษย์ธรรมดาที่สามารถเปลี่ยนเป็นอารยะบุคคลได้ และมีคุณสมบัติเป็นพระโสดา สกิทา อนาคา หันต์ได้ เพื่อว่าเราจะได้รู้สึกว่าแม้เราก็เหมือน ไม่อยู่นอกวิสัย ไม่เหลือวิสัยที่เราจะเป็นเช่นนั้นได้ ถ้าเราสวดบทสังฆคุณ เพราะฉะนั้นจิตใจของเราก็จะแจ่มแจ้งชัดเจนในพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณยิ่งขึ้น หรือว่าถ้าทำได้มากกว่านั้น พระคุณของพระพุทธพระธรรมพระสงฆ์ก็จะมาอาบย้อมจิตใจของเราให้เยือกเย็น นี่จึงเป็นเหมือนกับว่าเราเข้าถึงพระพุทธพระธรรมพระสงฆ์ทุกเวลาที่เราทำวัตรเช้าเย็น นี่ก็เยอะแยะไปหมดแล้ว มันจะสูงสุดทั้งคุณค่าที่เราได้ประพฤติปฏิบัติ เราสวดมนต์ทำวัตรที่บ้านไม่สะดวกและทำไม่ได้ดี เมื่อเราโอกาสดีก็มาบำเพ็ญชีวิตอย่างนี้เราต้องทำได้ดี ดังนั้นเราอย่าได้ละโอกาสอันนี้เสีย จงพยายามควบคุมสติสัมปชัญญะตั้งจิตทำให้มีการทำวัตรสวดมนต์ที่ดีที่สุดเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์เลย เหมือนกับว่าเราพบพระพุทธเจ้าทั้งเช้าทั้งเย็น อาบรดด้วยพระคุณของพระพุทธเจ้าทั้งเช้าทั้งเย็น ได้ทำสมาธิในเสียงของพระธรรมในคุณของพระธรรมของพระสงฆ์ทั้งเช้าทั้งเย็น และเราก็ได้สาธยายท่องจำบทพระธรรมต่างๆที่ควรจะสาธยาย

ขอให้ทำได้อย่างใดอย่างหนึ่งในสามอย่างนี้ ในสามอย่างนี้ที่ว่ามาแล้ว คือเป็นการสาธยายที่เป็นโอกาสให้จิตใจสงบลง และมีโอกาสได้ทำสมาธิในเสียงที่สวดในธรรมะที่นึกระลึกนึกถึงนี่สอง สามก็ให้ได้อาบรดด้วยพระคุณของพระพุทธพระธรรมพระสงฆ์ ในเมื่อเราสวดบทพระพุทธคุณ ถ้าเราสวดบทธรรมะอื่นๆก็ขอให้ความหมายแห่งธรรมะนั้นเจริญขึ้นในใจของเรา ฝังแน่นในใจของเรายิ่งๆขึ้นไป นี่เพียงแต่ทำวัตรเช้าเย็นที่ทำกันจริงจังถูกต้องก็มีประโยชน์มหาศาลอย่างนี้แล้ว

ขอให้เธอพยายามทำวัตรเช้าเย็นในลักษณะอย่างนี้เรื่อยไปจนกว่าจะหมดโอกาส คือจะลาสิกขา ถ้าจะทำก็ขอให้ทำร้อยเปอร์เซนต์ดีที่สุดร้อยเปอร์เซนต์แล้วมันจะเปลี่ยนจิตใจของเธอให้เป็นอย่างคนละคน แล้วมันจะให้ผลตอบแทนแก่เธอคือมีความสุขด้วย มีความรู้ยิ่งๆขึ้นไปด้วย สามารถบังคับตัวเองเหมือนกับที่บังคับตลอดเวลานี้ไปตลอดชีวิตเลย สามารถควบคุมจิตใจบังคับสติบังคับกิเลสบังคับอะไรต่างๆได้ยิ่งๆขึ้นไปตลอดชีวิตเลย เพียงเท่านี้ก็เป็นประโยชน์มหาศาล ที่เราจะได้รับจากพระพุทธศาสนาหรือที่จะได้รับจากความเป็นพุทธบริษัทของเรา เราเป็นพุทธบริษัททั้งทีเราควรจะได้รับประโยชน์อันนี้ เรานับถือพระพุทธศาสนาเป็นพุทธมามกะก็ให้ได้รับประโยชน์อันนี้ แม้ที่สุดแต่ว่าเป็นมนุษย์ ไม่เสียทีที่เกิดมาเป็นมนุษย์ต้องได้เป็นมนุษย์ที่ดี คือควบคุมความทุกข์ได้อย่าให้ความทุกข์มาเกิดแก่เรา ให้จิตใจของเรามันอยู่สูงเหนือความทุกข์มันก็สมชื่อว่าเป็นมนุษย์ คือผู้มีจิตใจสูงอยู่เหนือความทุกข์ไม่ต้องมานั่งเป็นทุกข์ร้องไห้ ยินดียินร้าย หัวเราะร้องไห้สลับกันไปเหมือนกับคนบ้า นั่นมันต้องตัดออกไป อาการเหมือนคนบ้า เดี๋ยวยินดีเดี๋ยวยินร้าย เดี๋ยวหัวเราะเดี๋ยวร้องไห้ มันไม่ใช่อาการแห่งมนุษย์ที่มีจิตใจสูง คือมนุษย์ไม่ได้ มนุษย์เป็นอย่างนั้นไม่ได้ นั่นเป็นคนธรรมดามากเกินไป...

นี่เราตั้งใจจะพูดในวันนี้ก็เฉพาะเรื่องทำวัตรสวดมนต์อย่างไร จึงจะเป็นการปฏิบัติธรรมะที่สมบูรณ์ ขอให้ตั้งใจทำอย่างนั้น นั่งให้ถูกต้องคือให้มันสะดวก ให้มันมั่นคง สำหรับที่จะมีจิตใจมั่นคง สำหรับที่จะดำรงสติเฉพาะหน้า แล้วก็ทำวัตรหรือสวดมนต์ หรือถ้าจะยักไปเป็นผู้ฟังไม่สวดก็ยังได้ เราจะไม่สวดเอง เราจะนิ่งฟังด้วยจิตที่เป็นสมาธิแน่วแน่อย่างที่ว่ามาแล้วนั้นก็ได้เหมือนกัน ถ้าจะสวดก็ได้ จะสวดหรือจะไม่สวดก็อย่าฟุ้งซ่านอย่าใจลอย ให้มีสมาธิแน่วแน่อยู่ในเสียงที่ได้ยิน เป็นการสวด รู้ความหมายแห่งถ้อยคำนั้น แล้วก็ซึมซาบใจของเรา เพราะว่าเป็นเรื่องพระคุณของพระพุทธเจ้าของพระธรรมและของพระสงฆ์ บางทีหยุด ฟังเขาสวดมันก็ได้ผลลึกซึ้งกว่าก็ได้ จะสวดเองก็ได้ถ้ามีสติสัมปชัญญะก็ได้มันก็ไม่เสียหายอะไร มันสวดก็ได้ ทำจิตกำหนดในการสวดเป็นสมาธิก็ได้ ซึมซาบในข้อความที่สวดนั้นพร้อมกันไปก็ได้  

พุทธทาสภิกขุ

 

1933243 835673683217298 5609926678437886095 o

กิจกรรมประกอบด้วย

การสวดมนต์ ทำสมาธิสั้น ๆ และแผ่เมตตา โดยใช้หนังสือสวดมนต์ คู่มือ อุบาสก อุบาสิกา ของสวนโมกขพลาราม

วันเวลาและสถานที่

ณ โถงโอวาทปาติโมกข์ ชั้น ๒

วันจันทร์-ศุกร์

วัตรเช้า ๗.๓๐ - ๘.๑๕ น.

วัตรเย็น ๑๗.๓๐ - ๑๘.๓๐ น.

วันเสาร์-อาทิตย์

วัตรเช้า ๘.๓๐ - ๙.๓๐ น.

วัตรเย็น ๑๖.๓๐ - ๑๗.๓๐ น.

วันโกน สวดบทอริยมรรคมีองค์แปด

ทุกวันพระ ขอเชิญร่วมภาวนา ทำวัตร สวดมนต์บทธัมจักกัปปวัตนสูตร, บทพิเศษอื่นๆ , นังสมาธิและฟังธรรมบรรยายจากเทปโดยพุทธทาสภิกขุ


ติดต่อสอบถามรายละเอียด

ฝ่ายกิจกรรม สวนโมกข์กรุงเทพ โทร. ๐ ๒๙๓๖ ๒๘๐๐ ระหว่างเวลา ๐๙.๓๐ - ๑๗.๐๐ น. ทุกวัน