หลักสูตร ตามรอยชีวิตสุขเย็น ของพระพุทธองค์

Image result for สังเวชนียสถาน

ลงทะเบียนเข้าร่วมกิจกรรมที่ register.bia.or.th

ความสุขเย็น (นิพพาน) เป็นเป้าหมายที่สูงสุดในพระพุทธศาสนา การที่ได้เรียนรู้ กระบวนการ เหตุปัจจัย ในการปฏิบัติธรรม ของพระพุทธองค์ ตั้งแต่ประสูติ จนตรัสรู้ เข้าถึงความจริงอันสูงสุด จนทรงเป็น ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน เข้าถึงพระนิพพาน ได้แล้ว และได้ทรงนำสัจธรรม อันทรงคุณค่านั้น มาสั่งสอนต่อแก่เวไนยบุคคล(ผู้ที่พอจะแนะนำสั่งสอนได้) ด้วย พระมหากรุณาธิคุณ จวบจนกระทั่ง พระพุทธองค์ปรินิพพานนั้นจะก่อให้เกิดประโยชน์อย่างมาก

ทำให้ผู้ศึกษา “ตามรอยชีวิตที่สุขเย็น ของพระพุทธองค์” เกิด ศรัทธา และปัญญา อันจะเกื้อกูลต่อการปฏิบัติเพื่อเข้าถึง ชีวิตที่สุขเย็น ตามรอยพระพุทธองค์ได้ ตามส่วน  

ทางกลุ่มอยู่เย็น เป็นประโยชน์ ได้ใช้หนังสือ “พุทธประวัติ จากพระโอษฐ์” เป็นแนวทางสำคัญ ในการศึกษา ตามรอยชีวิตของพระพุทธองค์ โดยท่านพุทธทาสได้ ค้นคว้าพระไตรปิฏก รวบรวมประวัติ ที่พระพุทธองค์ ทรงเล่าถึงพระพุทธองค์เองไว้ เป็นอย่างดีแล้ว

นอกจากนี้ ทางกลุ่มฯ ยังได้ค้นคว้าเพิ่มเติมจากพระไตรปิฏก ในส่วนที่พระพุทธองค์ ได้มีพระกรุณาเผยแผ่สัจธรรมนี้ไปยังกลุ่มคนต่างๆ ก่อให้เกิดผู้ได้ประโยชน์ได้ความสุขเย็น บรรลุเป็นพระอรหันต์ หรือ อริยบุคคล ชั้นต่างๆ เป็นจำนวนมาก และท่านเหล่านั้น คือพุทธบริษัททั้งสี่ ผู้มีส่วนสำคัญอย่างยิ่ง ในการถ่ายทอดสัจธรรม จากรุ่นสู่รุ่น จนมาถึงพวกเราในยุคปัจจุบันนี้

การได้ทราบประวัติการถ่ายทอด ส่งต่อความรู้ ตั้งแต่ยุคเริ่มต้นนั้น จะทำให้เรา ตระหนักถึง หน้าที่สำคัญ ที่พวกเราชาวพุทธจะต้องช่วยกัน ส่งต่อสัจธรรม อันมีค่ายิ่งนี้ ให้คนรุ่นต่อไปในโลก เพื่อประโยชน์ เพื่อความสุข เพื่อเกื้อกูลโลก ดั่งที่พระพุทธองค์ ได้กล่าว เมื่อเริ่มประกาศพระศาสนา ตามพุทธประวัติจากพระโอษฐ์ หน้า ๒๔๓ (พระไตรปิฏก เล่มที่ ๔ ข้อที่ ๓๒) ตรัสแก่พระอรหันต์ ๖๐ รูป ชุดแรกที่อิสิปตรมิคทายวัน

การประกาศพระศาสนา

ภิกษุ ท.!  เราเป็นผู้พ้นแล้วจากบ่วงทั้งปวง  ทั้งที่เป็นของทิพย์และเป็นของมนุษย์,  แม้พวกเธอทั้งหลาย  ก็พ้นแล้วจากบ่วงทั้งปวง  ทั้งที่เป็นของทิพย์และของมนุษย์. ภิกษุ ท.!  พวงเธอ ท.  จงเที่ยวจาริกไปเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขแก่มหาชน  เพื่อความเอ็นดูแก่โลก ; เพื่อประโยชน์  เพื่อความเกื้อกูลเพื่อความสุข  แก่เทวดาและมนุษย์ ท.!  อย่าไปทางเดียวกันถึงสองรูป.

ภิกษุ ท.!  พวกเธอจงแสดงธรรมให้งดงามในเบื้องต้น  ให้งดงามในท่ามกลาง  ให้งดงามในที่สุดลงรอบ,  จงประกาศพรหมจรรย์ให้เป็นไปพร้อมทั้งอรรถะทั้งพยัญชนะ  ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง : สัตว์ทั้งหลายที่เป็นพวกมีธุลีในดวงตาแต่เล็กน้อยก็มีอยู่.  สัตว์พวกนี้ ย่อมเสื่อมจากคุณที่ควรได้  เพราะไม่ได้ฟังธรรม,  สัตว์ผู้รู้ทั่วถึงธรรม จักมีเป็นแน่.

ภิกษุ ท.! แม้เราเอง  ก็จักไปสู่ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม  เพื่อแสดงธรรม.

อย่างไรก็ตาม ด้วยสัจจธรรม กฏความเป็น ไตรลักษณ์ และ อิทัปปัจยตา พุทธศาสนา อันมีแหล่งกำเนิด ในประเทศ อินเดีย ปัจจุบัน ได้สูญสิ้นไป แต่ยังคงเหลือร่องรอย สถานที่สำคัญๆ ให้ได้ศึกษา ถึงความเจริญรุ่งเรื่องในอดีต และการไปสู่สถานที่นั้นๆ ยังเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ ดังที่พระพุทธองค์ ตรัสไว้ ก่อนปรินิพพาน จาก พุทธประวัติจากพระโอษฐ์ หน้า ๕๗๗ (พระไตรปิฏก เล่มที่๑๐ ข้อที่๑๓๑) ตรัสแก่พระอรหันต์ ที่ระหว่างต้นสาละคู่ ในที่ปรินิพพาน

สังเวนียสถานภายหลังพุทธปรินิพาน

 “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! แต่ก่อนนี้ ภิกษุทั้งหลายที่จำพรรษาในทิศต่างๆ แล้ว ย่อมมาเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า.  พวกข้าพระองค์ทั้งหลาย  ได้มีโอกาสเห็นภิกษุทั้งหลายผู้น่าเจริญใจเหล่านั้น  ได้มีโอกาสเข้าพบปะภิกษุทั้งหลาย ผู้น่าเจริญใจเหล่านั้น. ครั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าล่วงลับไปแล้ว พวกข้าพระองค์ทั้งหลายย่อมหมดโอกาสที่จะได้เห็นหรือได้เข้าพบปะภิกษุทั้งหลายผู้น่าเจริญใจเหล่านั้นอีกต่อไป”. -พระอานนท์ กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าในวันปรินิพพาน.

ดูก่อนอานนท์ ! สถานที่ที่ควรเห็นและควรเกิดความสังเวชแก่กุลบุตรผู้มีศรัทธา  มีอยู่ ๔ ตำบล  ๔ ตำบลอะไรเล่า ? ดูก่อนอานนท์ ! สถานที่ที่ควรเห็นและควรเกิดความสังเวชแก่กุลบุตรผู้มีศรัทธา  ว่าพระตถาคตประสูติแล้ว ณ ที่นี้ ๑, สถานที่ที่ควรเห็นและควรเกิดสังเวชแก่กุลบุตรผู้มีศรัทธาว่า พระตถาคตได้ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว ณ ที่นี้ ๑, สถานที่ที่ควรเห็นและควรเกิดความสังเวชแก่กุลบุตรผู้มีศรัทธา  ว่าพระตถาคตได้ประกาศอนุตตรธรรมจักรให้เป็นไปแล้ว ณ ที่นี้ ๑, สถานที่ที่ควรเห็นและควรเกิดความสังเวชแก่กุลบุตรผู้มีศรัทธา ว่า พระตถาคตปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุแล้ว ณ ที่นี้ ๑. อานนท์ ! สถานที่ที่ควรเห็นและควรเกิดความสังเวชแก่กุลบุตรผู้มีศรัทธา มี ๔ ตำบลเหล่านี้แล.

อานนท์ ! ภิกษุทั้งหลาย หรือภิกษุณีทั้งหลาย  หรืออุบาสกทั้งหลาย หรืออุบาสิกาทั้งหลาย  ผู้มีศรัทธา  จักพากันมาสู่สถานที่ ๔ ตำบลเหล่านี้  โดยหมายใจว่า พระตถาคตได้ประสูติแล้ว ณ ที่นี้บ้าง,  พระตถาคตได้ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว ณ ที่นี้บ้าง,  พระตถาคตได้ปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ ณ ที่นี้บ้าง ดังนี้.

อานนท์ !  ชนเหล่าใดเที่ยวไปตามเจดียสถานจักมีจิตเลื่อมใส  ทำกาละแล้ว ชนเหล่านั้นจักเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์  ภายหลังแต่การตายเพราะการทำลายแห่งกาย ดังนี้

ดังนั้น การไป สักการะสังเวชนียสถาน ในสถานที่จริง ที่ประเทศอินเดีย เพื่อให้เกิดความ “สังเวช” จึงเป็น สิ่งที่ควรทำให้เกิดมี ตามพุทธดำรัส

ทางกลุ่มฯ จึงหวังว่า การจัดหลักสูตร นี้ จะช่วยให้ผู้ที่ได้เข้าเรียน และสนใจจะเดินทาง ไปสักการะสังเวชนียสถาน ในอนาคต จะเกิดการวางจิต ที่ถูกตรง ได้ประโยชน์ ตามพระสูตร ที่พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้

ลักษณะกิจกรรม

ผลที่คาดว่าจะได้รับ

๑. ผู้เข้าร่วมกิจกรรม เกิดความรัก ศรัทธา ในพระพุทธองค์ จากการได้รับทราบถึง พระมหากรุณาธิคุณ ที่พระพุทธองค์มีต่อมนุษย์ทั้งหลาย

๒. ผู้เข้าร่วมกิจกรรม เกิดปัญญา จากการได้ศึกษาธรรม ในแต่ละสถานการณ์ ตามประวัติของพระพุทธองค์

๓. ผู้เข้าร่วมกิจกรรม ได้ตระหนักถึงหน้าที่สำคัญ ในฐานะพุทธบริษัท คือการช่วยกัน รักษาพระธรรมคำสอนที่ถูกตรงไว้ แล้วนำมาปฏิบัติ จนเกิดผลได้จริง ดังที่ พุทธบริษัท รุ่นก่อนๆ ได้ช่วยกันทำมาก่อน การกระทำดังกล่าว ทั้งปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ จะเป็นส่วนสำคัญ ที่จะทำให้พุทธศาสนาอยู่ได้อย่างยั่งยืน โดยไม่ถูกกลืนโดยลัทธิต่างๆ ที่เข้ามาบิดเบือนพุทธศาสนา

๔. ผู้เข้าร่วมกิจกรรม ได้เข้าใจพุทธศาสนา ทั้งในด้านที่มีทั้งการทำประโยชน์ส่วนตน และการทำประโยชน์เพื่อผู้อื่น

๕. มีความเข้าใจในการไปสักการะ สังเวชนียสถาน ว่ามีจุดมุ่งหมายเพื่อความสังเวช ก่อให้เกิดความเจริญก้าวหน้า ภายในมากขึ้น

หลักคิดและวัตถุประสงค์

วันเวลาและสถานที่

หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ ทุกวันอาทิตย์ ๖ ครั้ง เวลา ๙.๐๐ - ๑๒.๐๐ น

ติดต่อสอบถามรายละเอียด

ติดต่อ กลุ่มอยู่เย็นเป็นประโยชน์ คุณสิริมา ๐๘ ๑๓๔๕ ๓๖๘๘

ภาพโดยคุณ venfaa 

Tags กิจกรรมพิเศษ | กิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (ปริยัติสัทธธรรม)