“มนุษย์ที่แท้ : มรรควิถีของจางจื๊อ” เล่มนี้แปลและเรียบเรียงโดย “ส.ศิวรักษ์” ซึ่งได้เอ่ยอ้างถึงคุณธรรมดั้งเดิมบนทางศาสนา ที่ศาสดาหรือผู้สอนเน้นในเรื่องการดำเนินชีวิตอย่างมักน้อย สันโดษ และสงบเย็น พร้อมกับกล่าววิพากษ์วิจารณ์ความเจ้ากี้เจ้าการอย่างโง่เขลา ในอันที่บุคคลเข้าไปกำหนดกฎเกณฑ์เอากับวิถีชีวิตของคนหมู่มาก เนื่องเพราะขาดความรู้ความเข้าใจอย่างลึกซึ้งในธรรมชาติของคน ทั้งนี้เพื่อจะได้กลับออกมามองโลกและสังคมอีกครั้ง ในแง่มุมและมิติที่หลากหลายกว้างขวางมากขึ้น ที่สำคัญคือเพื่อการสำรวจตรวจตราตนเอง โดยอาศัยศาสนธรรมเป็นแว่นส่อง เพื่อค้นหาให้พบซึ่งความผิดพลาด บกพร่อง และเยียวยาแก้ไขความผิดนั้นๆเสีย หากทำได้ดังนี้ก็น่าจะเป็นประโยชน์ในการดำเนินกิจการงานในลู่ทางที่เรียบโล่ง ปลอดพ้นจากทิฐิที่ยึดถือไว้อย่างตายตัว จนไม่เป็นอันจะเข้าใจกระแสโลกรอบตัวที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป
[ถาม: จากที่ท่านอาจารย์อ่านแล้ว อยากทราบว่าความเป็นมนุษย์ที่แท้ หมายถึงอะไร]
มนุษย์ที่แท้เป็นบทหนึ่งในหนังสือเล่มนี้ สะท้อนถึงมนุษย์ในอุดมคติตามทัศนะของจางจื๊อ ซึ่งก็คือผู้ที่ไม่ยึดติดในสิ่งใด ไม่ว่าความสำเร็จหรือความล้มเหลว อาตมาจะอ่านให้ฟัง…
“มนษุยที่แท้ในสมัยโบราณย่อมไม่กลัว ถึงล้มเหลวก็ไม่เสียใจ เมื่อสำเร็จก็ไม่หลงตน ยามตกลงเหวไม่เวียนศรีษะ ยามตกลงน้ำตัวไม่เปียก เดินเข้ากองไฟก็ไม่ไหม้” ไม่หวั่นไหว กับอะไรที่เกิดขึ้น ไม่ว่าบวกหรือลบ
“มนุษย์ที่แท้ในสมัยโบราณนอนโดยไม่ฝัน ตื่นโดยไม่วิตก กินอาหารง่ายๆ หายใจ ลึกๆ มนุษย์ที่แท้หายใจจากหัวใจ คนอื่นๆ หายใจจากคอหอย”
“มนุษย์ที่แท้ในสมัยโบราณไม่ไยดีในชีวิต ไม่กลัวความตาย เมื่อสู่ทางเข้าก็ปราศจากความยินดี เมื่อสู่ทางออกก็ปราศจากความขัดขืน มาง่าย-ไปง่าย ไม่ลืมว่ามาจากไหนและไม่ถามว่าจะไปไหน จิตอิสระ ความคิดไปพ้นแล้ว หน้าผากกระจ่าง ใบหน้าสงบ”
“ท่านเหล่านี้มีความเยือกเย็นเพียงใด ตอบได้ว่า ‘เย็นดุจฤดูใบไม้ร่วง’ ท่านเหล่านี้มีความร้อนเพียงใด ตอบได้ว่า ‘ไม่ร้อนไปกว่าฤดูใบไม้ผลิ’ ทุกสิ่งซึ่งมาจากท่าน มาอย่างเงียบๆ ดุจดังฤดูทั้งสี่”
คือคล้ายมนุษย์ในอุดมคติของพุทธศาสนาเลย ไม่หวั่นไหวต่อโลก อย่างในมงคลสูตรก็มีตอนหนึ่งกล่าวว่า “จิตของผู้ใด อันโลกธรรมทั้งหลายถูกต้องแล้ว ย่อมไม่หวั่นไหวไร้ธุลีกิเลส เป็นจิตเกษมศานต์ อันนี้คือสภาวะจิตของมนุษย์ในอุดมคติของพุทธศาสนาคือพระอรหันต์ ซึ่งท่านก็สามารถอยู่กับโลกแต่ไม่ทุกข์ไปกับโลก เพราะท่านไม่ยึดติดกับสิ่งใด
สิ่งที่จางจื๊อพยายามชี้ให้เห็นอยู่บ่อยครั้งก็คือว่า ไม่มีอะไรที่ยึดติดถือมั่นได้ และชี้ให้เห็นว่า สิ่งต่างๆ มันมีดีและมีเลวอยู่ในตัว ไม่มีอะไรดีไปทั้งหมด ไม่มีอะไรเลวไปทั้งหมดในความดีก็มีความเลว
ตอนหนึ่งจางจื๊อพูดถึงความซื่อสัตย์สุจริต “...ทรงทราบดีว่า ขุนนางข้าราชการที่ทำหน้าที่อย่างซื่อสัตย์สุจริตนั้นเป็นผลดีแก่บ้านเมือง แต่ไม่ทรงทราบว่าความซื่อสัตย์สุจริตนั้นก็ก่อให้เกิดผลร้ายด้วย เพราะพากันใช้ความซื่อสัตย์สุจริตนั้นเป็นเครื่องบังหน้า เพื่อแสดงอาการฉ้อฉลอยู่หลังฉากได้มั่นคงขึ้น”
เหมือนกับจะชี้ว่าในดีก็มีเลว และขณะเดียวกันในความเข้มแข็งก็มีความอ่อนแอ
“ม้าดิบเดินทางได้วันละ 500 โยชน์ แต่จะให้จับหนูย่อมไม่ได้”“กลางคืนต่อให้มืดแสนมืด นกเค้าแมวจับใครก็ได้ แม้เส้นผมอันละเอียดอ่อนก็แลเห็น แต่ตอนกลางวัน เหม่อมองออกไปเพียงไรก็ช่วยตัวเองไม่ได้ แม้ภูเขาใหญ่ขวางกั้น ก็มองไม่เห็น” หมายถึง ในความเก่งก็มีความไม่เก่ง ไม่มีอะไรดีโดยส่วนเดียว เพราะฉะนั้นอย่าไปยึดติดถือมั่นกับสิ่งต่างๆ มาก
อีกตอนหนึ่ง...
“ท่านเคยเห็นตัวจามรีบ้างไหมว่ายิ่งใหญ่อย่างกับลมพายุเมฆ ยืนแสดงอำนาจทั้งใหญ่และมั่นใจ แต่ก็จับหนูไม่ได้”
“ท่านเคยเห็นแมวป่าบ้างหรือไม่ มันหมอบคอยหาอาหาร แล้วก็หลบไปทางนู้นทีทางนี้ที เดี๋ยวกระโดดสูง เดี๋ยวกระโดดต่ำแต่ในที่สุดตัวเองก็ติดหลุมพราง” หมายถึงในเก่งก็มีความอ่อนแอ
จางจื๊อพูดเช่นนี้เพราะมีคนบอกว่า คำสอนของท่านไม่มีประโยชน์ ยิ่งใหญ่ก็จริงแต่ไม่มีประโยชน์ มันเหมือนต้นไม้ที่ใช้การไม่ได้ ลำต้นคดงอเป็นปุ่มเป็นป่ำจะเลื่อยเป็นกระดานตรงๆ สักแผ่นก็ไม่ได้ คือไม่ได้เรื่องเลย ไม่เป็นประโยชน์ แต่จางจื๊อบอกว่า ในความไม่มีประโยชน์นี้มีประโยชน์
“สำหรับต้นไม้ใหญ่ของท่านอันหาประโยชน์ไม่ได้นั้นน่ะหรือ ปลูกไว้ในที่ว่างสิ ... ไว้เดินเล่นรอบๆ ไว้พักใต้ร่มเงา จะไม่มีใครใช้ขวานหรืออะไรไปบั่นทอนมัน จะไม่มีใครไปโค่นล้มมันลง นี่หรือคือไร้ประโยชน์ อันท่านควรวิตก”
นี้เป็นคารมและปัญญาของจางจื๊อ ซึ่งทำให้เห็นว่าความคิดของท่านลึกซึ้ง และมีวิธีอธิบายที่เข้าใจได้ง่าย และเวลาเย้ยหยัน ประชดประชันก็ทำได้ถึงใจ เช่น
“คนจนที่ขโมยหัวเข็มขัด ต้องรีบหนีไปโดยเร็ว แต่คนรวยที่ขโมยรัฐทั้งรัฐกลับได้รับการยกย่องว่าเป็นรัฐบุรุษที่สามารถ”
“ถ้าต้องการฟังสุนทรพจน์อันเลิศในเรื่องความรัก หน้าที่ ความยุติธรรม พึงฟังจากปากคำของรัฐบุรุษ แต่ถ้าหากลำธารแห้งจะไม่มีอะไรเกิดขึ้นในละแวกนั้นเลย”
สิ่งที่จางจื๊อเน้นก็คือ ในเก่งมีความไม่เก่ง ในความนิ่ง มีพลัง มีบทหนึ่งชื่อบทไก่ชนไก่ชนนี้เป็นของพระเจ้าซ่วน พระเจ้าซ่วนมอบให้ชายผู้หนึ่งไปฝึก คนนี้ฝึกไก่ได้เก่งมาก วันหนึ่งพระเจ้าซ่วนก็ถามว่า “ไก่พร้อมจะต่อสู้หรือยัง” ตอนนั้นไก่มันมีความหึกเหิม
มากเลย พร้อมจะต่อสู้กับไก่ตัวใดก็ได้ มันหยิ่งผยองในกำลังของมัน แต่ผู้ฝึกไก่บอกว่า“มันยังไม่พร้อม เพราะพอมันได้ยินไก่อื่นขัน มันจะกระพือปีกออก”สิบวันต่อมาพระเจ้าซ่วนก็ถามว่า “พร้อมหรือยัง” ผู้ฝึกไก่ก็บอกว่า “ยังไม่พร้อม มันยังแสดงท่าทีโกรธและไซร้ขนอย่างชอนไช หึกเหิม”
อีกสิบวันต่อมา พระเจ้าซ่วนถามอีกว่า “มันพร้อมหรือยัง” ถึงตอนนี้คนฝึกทูลว่า“เกือบพร้อมแล้ว ดูจากเวลาไก่อื่นขันตามันเกือบไม่กระพริบเลย ยืนนิ่งดุจดังไก่ไม้ เมื่อไก่อื่นเห็นเข้าก็จะพากันวิ่งหนี”
ความนิ่งนั้นมีพลัง ในขณะที่การแสดงความหึกเหิม สะท้อนถึงข้างในที่อ่อนแอ นี้ก็สะท้อนถึงคนด้วย มนุษย์ที่แท้จะนิ่งสงบ แต่ว่าเขามีพลังข้างในอย่างมาก จางจื๊อให้ความสำคัญกับความนิ่งสงบ ไม่อวดเก่ง
“อ๋องคนหนึ่งเข้าไปในป่า เจอฝูงลิง ลิงตัวหนึ่งไม่สนใจ มันไม่กลัวคน พออ๋องยิงมันด้วยเกาทัณฑ์ ลิงก็จับลูกเกาทันฑ์ได้ อ๋องจึงสั่งข้าราชบริพานรุมยิงลิงตัวนั้นจนตาย อ๋องบอกกับเอียนยู่อี๋ว่า ‘สัตว์ตัวนี้มันเก่ง มันอวดเก่ง มันเชื่อมั่นในความสามารถของตนว่าไม่มีใครแตะต้องมันได้ มันก็เลยตาย’ พอกลับถึงราชธานี เอียนยู่อี๋ก็ขอลาไปเป็นสานุศิษย์ของฤาษีปลดเปลื้องความเด่นของที่เคยมีออกจากตนจนหมดสิ้น เรียนที่จะซ่อนเร้นคุณวิเศษต่างๆหลังจากนั้นไม่นานจึงไม่มีใครรูว่าเอียนยู่อี๋เป็นคนอย่างไร จึงพากันเกรงขามเขามาก”
นี่คือสูงสุดคืนสู่สามัญ เป็นปรัชญาเตือนให้เรากลับมาสู่ความสงบ สู่ความอ่อนน้อมถ่อมตน แต่ไม่เสแสร้ง ไม่ด่วนตัดสินใคร ไม่ยึดติดถือมั่นในสิ่งใด มันเป็นสิ่งช่วยเตือนใจให้เราอย่าเหิมเกริม และให้รู้ว่าความสงบความนิ่งมันก็มีพลังสิ่งหนึ่งที่จางจื๊อเน้นมาก คือกระทำโดยไม่กระทำอันนี้เป็นปรัชญาของเต๋าเลย
จางจื๊อบอกว่า “มองดูหน้าต่างนี้สิ มันเป็นเพียงช่องช่องหนึ่งที่ฝาผนัง และเพราะช่องนี้เอง ทั้งห้องจึงได้รับแสงสว่าง เพราะฉะนั้นเมื่ออินทรีย์ว่างเปล่า หัวใจก็เต็มไปด้วยแสงสว่างเมื่อใจสว่างเต็มที่ ย่อมมีอิทธิพลอันช่วยให้ผู้อื่นเปลี่ยนแปลงโดยไม่รู้ตัว” เปลี่ยนแปลงผู้อื่นโดยตัวเองไม่ต้องทำอะไรเลย แค่ทำใจให้สงบ ก็เปลี่ยนแปลงได้อาตมาก็ได้คติมากมายจากจางจื๊อ มาเตือนใจให้รู้จักเป็นสามัญ อย่าไปยึดติดถือมั่นในเกียรติยศ ความสามารถ จะทำอะไรก็ให้อยู่กับปัจจุบัน จบท้ายด้วยข้อคิดเรื่องมิตรภาพ
“มิตรภาพของบัณฑิตจืดสนิทดุจน้ำมิตรภาพของคนพาลหวานดั่งสุรา ความไร้รสของผู้รู้นำมาซึ่งมิตรภาพที่แท้ แต่รสอันร้อนแรงของคนพาล จบลงด้วยการทำลายกันและกัน” อาตมาเปรียบเทียบถึงความสุขนะ ความสุขที่ลึกซึ้งมันจืดสนิทดุจน้ำแต่ที่มีโทษมันหวานดังสุรา รสอันร้อนแรงของความสุขแบบนี้มันจบลงด้วยการทำลายกันและกัน