“มนุษย์ที่แท้ : มรรควิถีของจางจื๊อ” เล่มนี้แปลและเรียบเรียงโดย “ส.ศิวรักษ์” ซึ่งได้เอ่ยอ้างถึงคุณธรรมดั้งเดิมบนทางศาสนา ที่ศาสดาหรือผู้สอนเน้นในเรื่องการดำเนินชีวิตอย่างมักน้อย สันโดษ และสงบเย็น พร้อมกับกล่าววิพากษ์วิจารณ์ความเจ้ากี้เจ้าการอย่างโง่เขลา ในอันที่บุคคลเข้าไปกำหนดกฎเกณฑ์เอากับวิถีชีวิตของคนหมู่มาก เนื่องเพราะขาดความรู้ความเข้าใจอย่างลึกซึ้งในธรรมชาติของคน ทั้งนี้เพื่อจะได้กลับออกมามองโลกและสังคมอีกครั้ง ในแง่มุมและมิติที่หลากหลายกว้างขวางมากขึ้น ที่สำคัญคือเพื่อการสำรวจตรวจตราตนเอง โดยอาศัยศาสนธรรมเป็นแว่นส่อง เพื่อค้นหาให้พบซึ่งความผิดพลาด บกพร่อง และเยียวยาแก้ไขความผิดนั้นๆเสีย หากทำได้ดังนี้ก็น่าจะเป็นประโยชน์ในการดำเนินกิจการงานในลู่ทางที่เรียบโล่ง ปลอดพ้นจากทิฐิที่ยึดถือไว้อย่างตายตัว จนไม่เป็นอันจะเข้าใจกระแสโลกรอบตัวที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป
อาตมาอ่านเล่มนี้ (มนุษย์ที่แท้) ตั้งแต่ตอนทยอยพิมพ์ในนิตยสารลลนา, ตอนอายุ 17 เรียนอยู่ ม.ศ.5 เป็นการคัดสรรงานนิพนธ์ของจางจื๊อ (ปราชญ์จีนโบราณ) โดยโทมัส เมอร์ตัน, แปลโดย ส.ศิวรักษ์
จางจื๊อ เป็นคนในประวัติศาสตร์จีนเมื่อ 2,300 ปีที่แล้วงานของจางจื๊อนั้นลึกซึ้ง แฝงอารมณ์ขัน แยบคาย, โทมัสเมอร์ตัน เป็นนักบวช เป็นคนที่เข้าใจโลก มีความลุ่มลึกเกี่ยวกับศาสนา และเป็นนักเขียนในดวงใจของอาตมาคนหนึ่ง โทมัสศึกษาเซ็น เต๋า พออ่านงานของจางจื๊อก็เกิดความสนใจ จึงเลือกสรรมารวมเป็นเล่ม และอาจารย์สุลักษณ์ (ส.ศิวรักษ์) นำมาแปลด้วยสำนวนโบราณๆ อาตมาอ่านแล้วก็ชอบ
เฉพาะเล่มที่ใช้อยู่นี้ก็อยู่กับอาตมามา 43 ปีแล้ว อ่านบ่อยจนขาดหวิ่น หลุดเป็นแผ่นๆ ที่ประทับใจมาตลอดตั้งแต่สี่สิบปีที่แล้วก็คือบทสุดท้าย ท้ายๆ เลย ชื่อเรื่อง “หนีเงา”
เรื่องมีอยู่ว่า ชายผู้หนึ่งเกิดรำคาญรอยเท้าตัวเองและทนเงาตัวเองไม่ค่อยได้ จึงอยากเอาชนะ วันหนึ่งเขาคิดวิธีได้ เขาก็ลุกขึ้น แล้ววิ่ง -- แต่ไม่ว่าวิ่งไปไกลแค่ไหนรอยเท้าก็ตามเขาไป, ไม่ว่าวิ่งให้เร็วแค่ไหนเงาก็ยังตาม
ร่างเขาทันชายคนนี้คิดว่าเขาวิ่งเร็วไม่พอ ก็เลยวิ่งให้เร็วกว่าเดิมแต่เงาและรอยเท้าก็ยังตามทัน ที่สุดเขาก็หมดแรง ล้มลงและถึงแก่ความตาย
จางจื๊อสรุปว่า ชายผู้นี้หารู้ไม่ว่า หากเขาเพียงแต่แอบเข้าร่ม (ร่มนี้คือร่มเงา, ร่มไม้) เงาก็จะหายไป และหากเขาอยู่นิ่งๆ รอยเท้าก็จะหมดง่ายมากเลย อาตมาอ่านแล้วได้คิดเลยว่า คนเรานี้ วิ่งหนีทุกข์และสิ่งที่ใช้หนีทุกข์กลับทำให้ทุกข์เพิ่มมากขึ้น หรือติดตามตัวไป ที่จริงวิธีที่ง่ายก็คือเพียงหลบอยู่ในร่มไม้
ร่มไม้คือร่มธรรมและอยู่นิ่งๆ ไม่ใช่นิ่งทางกายอย่างเดียวแต่นิ่งทางใจด้วย คือใจสงบ เมื่อใจสงบความทุกข์ทางใจก็หายไป นี้เป็นแรงบันดาลใจให้อาตมาสนใจธรรมะ สนใจการปฏิบัติสมาธิภาวนา ทุกวันนี้ก็ยังระลึกนึกถึงบทนี้อยู่เสมอ และเอามาพูดเตือนใจผู้คนว่า ถ้าอยากพ้นทุกข์ อย่าหนีทุกข์ แค่อยู่ร่มไม้ หรือร่มธรรม รู้จักทำใจให้สงบ ความทุกข์ก็จะหายไปเอง
จางจื๊อเป็นคนที่มีคารมคมคาย อารมณ์ขัน มีความลึกซึ้ง แล้วก็ฉลาดในการอุปมาอุปไมย ท่านเจ้าคุณราชวรมุนี (ปัจจุบันท่านเป็นพระพุทธโฆษาจารย์) เขียนในคำนำหนังสือ ท่านตั้งข้อสังเกตว่า คำสอนของจางจื๊อใกล้เคียงกับพุทธศาสนาระดับโลกุตตรธรรม การไม่ยึดติดในสิ่งที่เป็นสมมติ เพราะไม่ว่าจะเป็นกฎเกณฑ์แบบแผน ความสำเร็จ ความล้มเหลว ล้วนเป็นสมมติ และจางจื๊อก็ไปถึงขั้นที่เรียกว่า ว่างเปล่าจากตัวตน
อีกบทที่อาตมาชอบด้วยเหมือนกัน คือบทที่ชื่อว่าเรือเปล่า
เรื่องมีอยู่ว่า เวลาข้ามแม่น้ำ ถ้าเรือแจวจะมาชนเรือกรรเชียงคนในเรือก็คงโกรธ แต่ถ้าเรือเปล่าจะมาชนเรือกรรเชียง ถึงเขาจะเป็นคนเจ้าโทสะ ก็คงโกรธไม่ได้มาก แต่ถ้าเห็นคนในเรือ คงต้องตะโกนบอกให้ไปให้พ้น ถ้าอีกฝ่ายไม่ได้ยินก็ต้องตะโกนออกไปอีก และทำเช่นนี้เรื่อยไปจนถึงต้องร้องด่า ทั้งนี้ก็เพราะมีคนอยู่ในเรือลำนั้น ถ้าไม่มีคนอยู่ในเรือ คงไม่ตะโกนและไม่โกรธ
จางจื๊อสรุปว่า ถ้าทำเรือของท่านให้ว่างเสียได้ เวลาข้ามโอฆะของโลก โอฆะก็อาจจะหมายถึงทะเลหรือสังสารวัฏก็จะไม่มีใครขวางกั้นท่านจางจื๊อให้เราทำตัวเหมือนเรือเปล่า ถ้าเราทำตัวเหมือนเรือเปล่าก็จะไม่มีใครมาต่อว่าด่าทอ หรือถึงต่อว่าด่าทอ ก็ไม่ทุกข์ร้อนอะไร
จางจื๊อได้ฝึกตนจนถึงสภาวะบางอย่าง ทำให้เขาเป็นคนไม่สนใจยศศักดิ์ อำนาจ ชื่อเสียง
มีเรื่องเล่าว่า วันหนึ่งขณะจางจื๊อนั่งตกปลาอยู่ มีเสนาบดีได้รับบัญชาให้มาประกาศแก่จางจื๊อว่าได้รับแต่งตั้งเป็นอัครเสนาบดี จางจื๊อก็ยังคงนั่งตกปลาเช่นเดิม หาได้สนใจ แล้วเขาก็พูดขึ้นว่า “ข้าพเจ้าเคยได้ยินว่ามีเต่าตัวหนึ่งเป็นเซียนมาเมื่อสามพันปีที่แล้ว ต่อมาอ๋อง (ผู้ปกครอง)รู้ข่าวก็มานำเต่าตัวนี้ไปไว้ที่ศาล เคารพกราบไหว้” จางจื๊อถามเสนาบดีว่า “เต่าตัวนี้ควรอยู่ในศาลทนดมกลิ่นธูปควันเทียน หรือควรกลับมาสู่ธรรมชาติ กระดิกหางอยู่ตามโคลนตม”
เสนาบดีตอบว่า “เต่าตัวนั้นควรกลับมากระดิกหางอยู่ในโคลนตม” จางจื๊อจึงบอกว่า “ฉะนั้นก็ปล่อยให้ข้าพเจ้ากระดิกหางตามโคลนตมต่อไป”
จางจื๊อเดินทางไปยังรัฐรัฐหนึ่ง อัครเสนาบดีรัฐนั้นกลัวว่าจางจื๊อจะมาแย่งตำแหน่งของตัว จึงส่งลูกน้องมาจับ จางจื๊อก็ไม่ได้ว่าอะไร แต่กล่าวว่า “มันมีนกอยู่ตัวหนึ่งคือ นกวายุภักดิ์ เป็นนกชั้นสูงกินอาหารทิพย์ ดื่มแต่น้ำใสและมีนกอีกตัวคือนกเค้าแมว เป็นนกที่กินหนูตาย (ศพเน่า)พอมันมองขึ้นฟ้าเห็นนกวายุภักดิ์ ก็ตกใจ กำหนูไว้แน่นเพราะกลัวสูญเสียซากหนู แล้วกล่าวว่า “ท่านจะวิตกกังวลไปทำไม ยึดตำแหน่งไว้เหนี่ยวแน่น กลัวข้าพเจ้าจะแย่งชิงหรือไร”
จางจื๊อพูดทำนองว่า ยศ อำนาจ นี้เป็นของต่ำ ฉันไม่สนใจหรอก
ชายคนหนึ่งเลี้ยงลิง บอกลิงว่า ตอนเช้าฉันจะให้เจ้ากินเกาลัด 3 กอง บ่าย 4 กอง ลิงโวย ไม่พอใจ, คนเลี้ยงลิงเลยบอกว่า งั้นตอนเช้าจะให้กินเกาลัด 4 กอง บ่าย 3 กองลิงได้ยินดังนี้ก็พอใจ จบนิทานเรื่องนี้สอนว่า อย่าไปติดแบบแผน จะเช้า 3 เย็น 4 หรือเช้า 4 เย็น 3 ก็ได้ผลเหมือนกัน คนที่ไม่ฉลาดก็จะไปเถียงกับลิง แต่จางจื๊อบอกว่าอย่าไปติดแบบแผน ไม่ชอบเช้า 3 เย็น 4 ก็ให้เช้า 4 เย็น 3 ก็ได้ กับลิงจะไปเถียงเอาเหตุผลกับมันทำไม
คนทั่วไปก็ไม่ต่างจากลิงนะ อยากได้มากก่อน-น้อยที่หลัง น้อยคนที่จะเอาน้อยก่อน-มากทีหลัง ความสุข-ความทุกข์ก็เหมือนกัน น้อยคนจะยอมทุกข์ก่อน-สุขทีหลัง ส่วนมากจะเอาสุขก่อน-ทุกข์ทีหลัง, เด็กๆ น้อยคนที่จะยอมทำการบ้านก่อนแล้วเล่นทีหลัง โดยมากจะเล่นวันนี้ จะสนุกวันนี้ วันหน้าจะเดือดร้อนยังไงไม่สนใจจางจื๊อเน้นให้เราเห็นว่าแบบแผน คุณธรรมต่างๆ นั้นมีข้อดี แต่อย่ายึดติด เพราะสิ่งดีๆ ที่ออกจากใจ อาจไม่มีแบบแผนเลยก็ได้
จางจื๊อเคยพูดไว้ว่า ถ้าเราเหยียบเท้าคนแปลกหน้าที่ตลาด เราจะกล่าวขอโทษ และให้เหตุผลมากมาย แต่ถ้าพี่ชายเหยียบเท้าน้องชาย อาจกล่าวเพียงว่า ขอโทษทีนะ เท่านี้ก็พอแล้ว แต่ถ้าบิดามารดาเหยียบเท้าบุตร อาจไม่ต้องกล่าวอะไรเลยก็ได้ แล้วจางจื๊อก็กล่าวว่า “ความสุภาพที่ยิง่ ใหญ่ที่ใหญ่สุดย้อมเป็นอสิระจากแบบแผนทั้งปวง” หมายถึงคนเราถ้ามีความรักต่อกัน คำขอโทษไม่มีความหมาย ไม่จำเป็น คำขอโทษมีความจำเป็นก็ต่อเมื่อคนแปลกหน้ามาเกี่ยวข้องกับเรา
ความรักที่สมบรูณ์ย่อมปราศจากการแสดงออกใดๆ ทั้งสิ้น น้ำใสใจจริงที่แท้ ย่อมไม่ให้ตะกรัน เขาพยายามบอกเราว่าอย่าไปติดแบบแผน แม้แต่เรื่องมารยาท แต่ให้เราหันมาให้ความสำคัญกับเรื่องจิตใจถ้อยคำก็เช่นกัน ถ้อยคำเป็นสิ่งที่จางจื๊อบอกว่าอย่าสนใจมาก ยกตัวอย่างเช่น ถ้ามีแร้ว ถ้าแร้วจับกระต่ายได้ ก็ให้ลืมแร้วทิ้งไปเลยถ้ารองเท้ามันสวมใส่ได้พอดี ก็ลืมรองเท้า ถ้อยคำ หากเราเข้าถึงความหมายของถ้อยคำแล้ว ก็ลืมถ้อยคำได้ คือให้มุ่งที่สาระ นี้ก็เป็นคำสอนบางส่วนของจางจื๊อที่อาตมาชอบอีกอย่างคือเขาบอกว่า เวลาไปทำอะไรอย่าไปมุ่งหวังความสำเร็จ แต่ให้อยู่กับสิ่งที่เราทำ อย่างเรื่องช่างแกะสลักไม้
ช่างแกะสลักไม้คนหนึ่ง ช่างคนนี้แกะสลักไม้ได้งดงามมาก คนก็ถามท่านว่ามีเคล็ดลับอะไรจึงแกะสลักได้สวยงามชายคนนี้บอกว่า “ไม่มีเคล็ดลับอะไรเลย ก่อนที่จะแกะสลักไม้ ข้าพเจ้าก็จะนั่งสมาธิ
บำเพ็ญภาวนา ลืมทุกอย่าง ลืมงานการ หลังจากนั้นก็จะเริ่มทำงาน ระหว่างหาไม้ก็จะลืมคำชมคำวิจารณ์ พอภาวนาได้ 7 วันก็จะลืมร่างกาย อาจจะขาหรือแขนก็ตาม มาถึงตอนนี้ความนึกคิดของข้าพเจ้าไม่ได้นึกถึงอะไรเลย ความคิดมันมีแต่เป็นหนึ่ง จดจ่ออยู่กับเรื่องที่แขวนระฆัง และเมื่อไปถึงต้นไม้ เมื่อเห็นต้นไม้ที่ปรากฏแก่ตาข้าพเจ้า รูปร่างของที่แขวนระฆังก็ปรากฏขึ้น”
ทุกอย่างดูง่ายไปหมด เมื่อลืมนึกถึงเป้าหมาย หรือความสำเร็จ อีกตอนเขาพูดถึงนายขมังธนู
“เมื่อนายขมังธนูยิงโดยไม่ได้หวังอะไร ย่อมใช้ความชำนิชำนาญอย่างเต็มที่ แต่ถ้ายิงเพื่อโล่ทองเหลือง ย่อมประหม่าเสียแต่แรก ถ้ายิงเอาทองเป็นรางวัล เลยตาบอดเอาด้วยซ้ำหาไม่ก็เห็นเป้าเป็นสองเป้าเพราะใจมิอยู่กับตัว ความชำนาญมิได้เปลี่ยนแปลงไป แต่รางวัลทำให้แบ่งตัวเขาเป็นสอง เขาพะวง เขาคิดเอาชนะยิงกว่าคิดจะยิง ความต้องการเอาชนะทำให้อำนาจของเขาขาดหายไป”
นี้เป็นบทที่อาตมาชอบ เวลาทำอะไรอย่าไปสนใจผลสำเร็จ รวมทั้งรางวัลที่จะได้รับแต่ให้ใจเรามีสมาธิเป็นหนึ่งเดียวกับสิ่งที่เราทำ อันนี้ก็ตรงกับที่พระพุทธเจ้าสอนให้เรามีสติ กับปัจจุบัน มีสติกับสิ่งที่เราทำให้เป็นหนึ่งเดียวกัน แล้วมันจะทำได้ดีภาวะนั้นจะลืมตัวตนว่าคนเขาจะพูดถึงเราอย่างไร ไม่สนใจคำชม ไม่สนใจว่าจะมีอุปสรรคอย่างไร ใจเป็นหนึ่งเดียวกับสิ่งนั้น
มันก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ ตัวอย่างที่อาตมาชอบยกอยู่บ่อยๆ คือ นักกีฬาฟุตบอล เวลาเตะลูกโทษ แมทช์สำคัญที่ต้–องชี้ชะตากันที่ลูกโทษ เราจะพบว่านักฟุตบอลที่มีชื่อเสียงหลายคนเตะไม่เข้า ทั้งที่เวลาซ้อมเตะแบบนี้ 100 ลูกก็เข้า 90 ลูก แต่พอแมทช์ที่ต้องชี้ชะตากลับไม่เข้า เป็นเพราะใจเขาไม่เป็นหนึ่งเดียวกับลูกฟุตบอล ใจเขานึกถึงว่าถ้าเตะไม่เข้าจะเกิดอะไรขึ้น ทีมจะตกรอบ? จะไม่ได้แชมป์? จะถูกด่า? ผู้ชมจะรุมโห่? นี้ก็เหมือนนายขมังธนู คือถ้าคิดยิงเพื่อโล่ ย่อมประหม่า แต่คนที่จะยิงเข้าในแมทช์แบบนี้ ต้องใจเป็นหนึ่งเดียวกับฟุตบอล ในความรับรู้ของเขามันไม่มีผู้ชม ไม่มีรางวัล ไม่มีถ้วย มีแต่เขากับลูกฟุตบอล
เท่านั้น นี้เรียกว่า ให้ปล่อยวาง อาจจะตรงกับที่ท่านพุทธทาสกล่าวว่า “ทำงานทุกชนิดด้วยจิตว่าง” คือวางจากความสำเร็จ วางผลลัพธ์ที่จะได้ วางตัวตน