ธรรมะในสวน ตักบาตรเดือนเกิด
ธรรมะในสวน ตักบาตรเดือนเกิด
กิจกรรมนี้จัดสืบทอดมรดกธรรมของพุทธทาสภิกขุ ที่ว่า การตักบาตรนี้เป็นปรารภของพุทธทาสภิกขุเพื่อให้เป็นไปอย่าง สะดวก เป็นระเบียบเรียบร้อย เรียบง่าย และ เกิดประโยชน์สูงสุดแห่งการบิณฑบาต ทั้งต่อพระศาสนา พระภิกษุสงฆ์สามเณร ตลอดจนอุบาสกอุบาสิกาทั้งมวล โดยมีการปรับปรุงให้เหมาะสมกับจำนวนคนที่มากขึ้น กล่าวคือ - พระภิกษุ สามเณร คงดำรงสมณศีลสมบูรณ์ ด้วยการรับและฉันภัตตาหารในบาตรตามที่มีการจัดและถวายเป็นสังฆทาน พร้อมกับการสวดชัยมงคล พิจารณาปัจจเวกขณ์ อนุโมทนาขอบคุณญาติโยมและให้พร - อุบาสกอุบาสิกา ได้บำเพ็ญทานอย่างสูงสุด คือสังฆทานแก่สังฆะโดยมิได้ระบุบุคคล ด้วยการตักข้าวสุกใส่บาตร ส่วนอาหาร น้ำ และจตุปัจจัยไทยทานทั้งหลาย วางถวายเป็นสังฆทานเพื่อการแจกจ่ายโดยสังฆะ |
กิจกรรมประกอบด้วย
- การฟังเทปธรรมบรรยายของท่านพุทธทาส ในหัวข้อที่เลือกสรรแล้ว ให้เหมาะกับโอกาสต่าง ๆ
- ฟังปรารภธรรม โดย ครูบาอาจารย์จากวัดต่าง ๆ หมุนเวียนกัน
- การสวดมนต์ ทำวัตรเช้า รับศีล
- การตักบาตรสาธิตแบบพุทธกาล (ตามแบบสวนโมกข์) พระภิกษุ ๙ รูป จากวัดต่าง ๆ ในกรุงเทพ (หมุนเวียนกัน)
- การถวายภัตตาหารเพล (ตามแบบหนองป่าพง)
- พิจารณาอาหาร และ กินข้าวก้นบาตรในจานแมวแบบสวนโมกข์ พร้อมฟังเพลงดีมีข้อคิด
วันเวลาและสถานที่
ทุกวันอาทิตย์สัปดาห์ที่ ๑ ของเดือน เวลา ๐๘.๐๐ - ๑๒.๐๐ น. ณ โถงกิจกรรมชั้น ๑
การเตรียมอาหาร และ วิธีการตักบาตร
เนื่องจากมีผู้มาร่วมตักบาตรจำนวนมาก สวนโมกข์กรุงเทพได้กำหนดขั้นตอนง่าย ๆ พร้อมคำแนะนำ เพื่อให้งานมีความคล่องตัว สะดวก สบาย ขอให้ท่านที่ตั้งใจมาตักบาตรศึกษาทำความเข้าใจก่อนมางาน เพื่อประโยชน์ของท่านเอง
ขั้นตอนที่ ๑
เมื่อมาถึงบริเวณงาน ให้ถอดรองเท้าในที่ๆ จัดไว้ (แนะนำว่าอย่าใส่รองเท้าราคาแพง เพราะเคยมีการสลับหรือสูญหาย)
ขั้นตอนที่ ๒
นำอาหาร (กับข้าว) ที่เตรียมมาไปจัดแยกบนโต๊ะ โดยอาหารที่เหมือนกันจะนำไปรวมกัน เช่น ไข่พะโล้ แกงจืด ส้ม กล้วย ดังนั้น ท่านไม่ต้องแยกอาหารมาเป็นถุง ๆ เท่าจำนวนพระ เพราะต้องแกะถุงนำมารวมกันในที่สุด ให้เตรียมเป็นถุงใหญ่หรือเป็นหม้อมาได้เลย โดยจะมีเจ้าหน้าที่และธรรมภาคีคอยแนะนำการจัดแยก ส่วนข้าวสวยให้เก็บไว้กับตัวเพื่อใช้ในการตักบาตรภายหลัง (ปริมาณข้าวไม่ต้องมาก ประมาณ ๑๐ ช้อนเล็ก ๆ)
ขั้นตอนที่ ๓
สำหรับท่านที่เตรียมอาหารแห้ง น้ำดื่ม เครื่องใช้ ยา รวมถึงเครื่องสังฆทานชุด ให้นำไปวางแยกเช่นกัน ที่โต๊ะที่จัดไว้เฉพาะสำหรับวางอาหารแห้ง
หมายเหตุ ท่านที่เตรียมอาหารแห้งมา หากต้องการใส่บาตรข้าวสวยด้วยก็ทำได้ โดยเตรียมข้าวสวยมาต่างหาก
ขั้นตอนที่ ๔
เมื่อจัดการเรื่องอาหารเสร็จแล้ว ให้หยิบหนังสือสวดมนต์ ๒ เล่ม (อยู่ในตู้ตรงข้ามลิฟท์ / เมื่อใช้เสร็จแล้วคืนที่จุดเดิม) และหาที่นั่งเพื่อเตรียมสวดมนต์ อาราธนาศีล อาราธนาธรรม
หมายเหตุ
- หากเสื่อไม่พอ มีเสริมในตู้สองฝั่งของลานหินโค้ง
- เสื่อแถวหน้าสองแถวจะจองไว้สำหรับเจ้าภาพตักบาตรในแต่ละเดือน มีป้ายตั้งไว้ชัดเจน
- เก้าอี้มีจำนวนจำกัด ขอสงวนไว้สำหรับผู้สูงอายุ หรือ ผู้ที่จำเป็นต้องนั่ง เพราะเจ็บป่วย
ขั้นตอนที่ ๕
ฟังการปรารภธรรม
ขั้นตอนที่ ๖
หลังฟังธรรมจะเริ่มการตักบาตร โดยใส่ข้าวสวยช้อนเล็ก ๆ ลงในบาตร (ขอแนะนำให้ท่านเตรียมภาชนะใส่ข้าวสวยนี้มาเอง เพราะจาน ชาม ของสวนโมกข์อาจไม่พอ)
หมายเหตุ
- ระหว่างการใส่บาตรข้าวสวย จะไม่มีการใส่กับข้าว น้ำขวด ถวายสังฆทาน ปัจจัย หรือของอื่น ๆ เพื่อความรวดเร็ว
- เนื่องจากแถวจะยาว ขอให้ผู้สูงอายุได้ใส่บาตรก่อน
ขั้นตอนที่ ๗
เมื่อเสร็จการตักบาตร จะเป็นการถวายภัตตาหารเพล โดยจะประเคนอาหารทั้งโต๊ะในคราวเดียว โดยตัวแทนอุบาสกจะเป็นผู้ประเคน เพื่อความรวดเร็วกว่าการประเคนทีละภาชนะ
ขั้นตอนที่ ๘
พระสงฆ์จะพิจารณาอาหารและฉันภัตตาหารเพล
ขั้นตอนที่ ๙
ระหว่างพระฉันอาหาร ญาติโยมจะสวดมนต์ทำวัตรเช้า
ขั้นตอนที่ ๑๐
เมื่อพระฉันเสร็จจะให้พร สวดแผ่เมตตาอุทิศส่วนกุศล และอนุญาตให้ญาติโยม ฉันข้าวก้นบาตร โดยเราจะใช้จานแมวแบบสวนโมกข์ ใส่อาหารรวมกันลงไป
เมื่อรับประทานเสร็จ หากท่านใช้ภาชนะของสวนโมกข์ ให้นำไปล้างที่จุดล้างจาน อยู่นอกตัวอาคาร ติดกับลานจอดรถ
ขั้นตอนที่ ๑๑
อาหารแห้ง ของใช้ ชุดสังฆทาน จะถูกรวบรวมส่งไปยังวัด เพื่อถวายเป็นสังฆทานต่อไป อีกส่วนหนึ่งจะถูกส่งต่อให้มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ไปแจกจ่ายให้กับผู้พิทักษ์ป่าและชุมชนรอบป่าต้นน้ำ เพื่อเป็นธรรมทานผู้ดูแลป่าผืนใหญ่ของประเทศและเป็นประโยชน์ต่อสรรพสัตว์ สิ่งของอื่น ๆ ที่สามารถนำมาบริจาค ได้แก่ ๑ใ กระติกน้ำทหาร ๒. ถุงเท้า ๓. กางเกงชั้นในชาย ๔. เสื้อกล้ามผู้ชาย ๕. ถุงนอน ๖. เปลมุ้ง และ อุปกรณืเดินป่า
บริการ
- เรามีชุดปิ่นโตอาหาร ๑๐๐ ชุด สำหรับท่านที่ไม่สะดวกเตรียมอาหารเอง (ไม่มีบริการจองล่วงหน้า และต้องมาแต่เช้าเพราะมีจำนวนจำกัด) ส่วนท่านที่จะเตรียมอาหารมาใส่บาตร จะเป็นอาหารแห้งหรืออาหารสดได้ตามสะดวก
- ที่จอดรถมีจำกัด เนื่องจากมีผู้ร่วมงานจำนวนมาก ขอให้จอดได้ที่สวนรถไฟ ค่าบริการ ๒๐ บาท จอดได้ตลอดวัน
ข้อแนะนำ
- ทำบุญกับพระแล้ว ขอให้ทำบุญกับโลกด้วย สวนโมกข์กรุงเทพ ขอแนะนำให้นำให้ใช้ภาชนะใส่อาหารสำหรับตักบาตรแทนถุงพลาสติก ซึ่งมีมากเป็นพัน ๆ ใบในงานตักบาตรแต่ละครั้งนอกจากนั้น หากท่านนำปิ่นโต ชาม ช้อนมาเอง ก็จะแน่ใจได้ว่ามีใช้แน่ เพราะจำนวนที่สวนโมกข์กรุงเทพมีอาจไม่เพียงพอ
ร่วมเป็นเจ้าภาพงานตักบาตรเดือนเกิด
สนับสนุนโครงการแบบองค์กร หรือ หมู่คณะ ๑๐,๐๐๐ บาท
- ประกอบด้วย ข้าว ๑ หม้อ / แกง ๑ หม้อ / ผัด ๑ ถาด / ผลไม้ และหนังสือชุดใหญ่ถวายวัด
- พร้อมปัจจัยถวายพระ และสนับสนุนกิจกรรมภาวนาทั้งเดือน สนับสนุนการผลิตธรรมะเล่มน้อย
- จัดวิทยากรพิเศษนำชมภาพปริศนาธรรม เฉพาะหมู่คณะ
- และจะได้รับหนังสือธรรมะเล่มน้อย ๑๒ เดือน (จัดส่งไปที่บริษัท หรือ จะให้ส่งไปให้ที่โรงเรียนที่ต้องการบริจาคก็ได้)
หรือร่วมเป็นเจ้าภาพ ตักบาตรอาหาร และ หนังสือถวายพระ พร้อมกับปัจจัย ชุดละ ๒,๕๐๐ บาท ประกอบด้วย
- ชุดปิ่นโต สำรับกับข้าว คาวหวาน ๑ เถา และหนังสือถวายพระ
- พร้อมปัจจัยถวายพระ และสนับสนุนกิจกรรมภาวนาทั้งเดือน และสนับสนุนการผลิตธรรมะเล่มน้อย
- พร้อมได้รับหนังสือธรรมะเล่มน้อย ๕ เล่ม ที่มีชื่อเป็นเจ้าภาพการผลิต จัดส่งไปให้ที่บ้านในเดือนถัดไป
- ฝ่ายกิจกรรม สวนโมกข์กรุงเทพ โทร. ๐๒ ๙๓๖ ๒๘๐๐ ต่อ ๗๑๑๒ ระหว่างเวลา ๐๙.๓๐ - ๑๗.๐๐ น. ทุกวัน
ติดต่อสอบถามรายละเอียด
ฝ่ายกิจกรรม สวนโมกข์กรุงเทพ โทร. ๐๒ ๙๓๖ ๒๘๐๐ ต่อ ๗๑๑๒ ระหว่างเวลา ๐๙.๓๐ - ๑๗.๐๐ น. ทุกวัน อีเมล : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it." target="_blank">