เพลินธรรม นำชม : เรียนรู้ธรรมะอย่างเพลิดเพลิน
จากสวนโมกข์ ไชยา ถึง สวนโมกข์กรุงเทพ : กิจกรรมนำชมภาพปริศนาธรรม
ลงทะเบียนเข้าร่วมกิจกรรม คลิกที่นี่
ชมคลิป ความเป็นมาของกิจกรรม คลิกที่นี่
ชมคลิป ทำความรู้จักกับอาสาเพลินธรรมนำชม คลิกที่นี่
สนใจเป็นอาสาเพลินธรรมนำชม ฟังประสบการณ์ของอาสารุ่นแรก คลิกที่นี่
(บริษัท/องค์กรที่สนใจ ร่วมกิจกรรมเพลินธรรมนำชม สามารถเข้าร่วมกิจกรรมเป็นหมู่คณะได้ โดย ติดต่อผู้ประสานงาน คุณเปิ้ล จุฑามาส เบอร์ ๐๘ ๑๖๙๙ ๔๕๗๖)
สวนโมกขพลาราม ไชยา ได้รับการจัดสรรให้เป็น โรงมหรสพทางวิญญาณ ซึ่งเป็นมรดกธรรม ที่ท่านพุทธทาสได้ให้ไว้แก่ชาวพุทธ เฉพาะในโรงมหรสพทางวิญญาณภายในจะมีภาพปริศนาธรรมจัดแสดงไว้มากมาย โดยมีพระสงฆ์ทำหน้าที่นำชม และอธิบายความหมายทางธรรมที่สอดแทรกในรูปภาพแต่ละรูป เพื่อให้ผู้เข้าชมได้เรียนรู้ธรรมะอย่างเพลิดเพลินและจดจำได้ง่าย
กิจกรรมการนำชมปริศนาธรรมเป็นกิจกรรมหนึ่งที่หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ จัดให้มีขึ้นนับตั้งแต่หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เริ่มเปิดดำเนินการในเดือนสิงหาคม พ. ศ. ๒๕๕๓ สืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน การนำชมปริศนาธรรมเป็นแนวทางหนึ่งที่จะเผยแผ่พุทธศาสนาตามประณิธานของท่านพุทธทาส ซึ่งจะทำให้ผู้ที่สนใจได้รับความรู้ความเข้าใจในหลักธรรมคำสอนของพุทธศาสนา และความสนุกสนานเพลิดเพลิน ไปพร้อม ๆ กัน โดยได้จัดแสดงภาพปริศนาธรรมหลายรูปทั้งศิลปะแบบไทยหลายสมัย แบบทิเบต และมีอาสาสมัครนำชมปริศนาธรรม หรือที่เรียกกันคุ้นปากได้ยินกันคุ้นหูว่า “ธรรมภาคีนำชมหอ” ที่ผ่านการอบรมอย่างเข้มข้น ทำหน้าที่นำชม อธิบายความหมายปริศนาธรรมต่าง ๆ ในกิจกรรม "เพลินธรรม นำชม" เพื่อสืบสานงานของท่านพุทธทาสทั้งนี้เพื่อจะทำให้กิจกรรมการนำชมหอนี้ ได้ขับเคลื่อนไปอย่างสมบูรณ์และมีศักยภาพในการพัฒนาให้เจริญก้าวหน้าต่อไปในอนาคต อันจะนำมาซึ่งคุณประโยชน์ต่อพุทธศาสนายิ่ง ๆ ขึ้นไป
ภาพหินสลักพุทธประวัติ
หินสลักพุทธประวัติ หลังจากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้วประมาณ 300 ปี เหล่าพุทธบริษัทชาวอินเดียทำการสลักภาพพุทธประวัติขึ้นบนแผ่นหิน เป็นอนุสรณ์และสิ่งประดับปูชนียสถาน ครั้นกาลเวลาล่วงเลยมา ปูชนียสถานซึ่งประดับไว้ด้วยภาพหินสลักเหล่านี้ถูกทอดทิ้งทรุดโทรม ปรักหักพังลง บางแห่งก็จมอยู่ใต้พื้นดิน แตกหักสึกหรอไปตามกาลเวลา ตราบกระทั่งยุคหลังต่อมา นักโบราณคดีทำการขุดค้นพบ รวบรวมได้จำนวนมากมาย รัฐบาลอินเดียจึงเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์ให้ประชาชนชาวโลกได้ชมได้ศึกษา ท่านพุทธทาสภิกขุผู้เล็งเห็นความสำคัญของวัตถุอันล้ำค่านี้ พยายามค้นคว้าหลักฐานและรวบรวมภาพที่มีถ่ายไว้ แล้วขยายให้ได้ขนาดหินแผ่นเดิม หล่อจำลองขึ้นด้วยปูนปั้น ประดับไว้ข้างโรงมหรสพทางวิญญาณ ณ สวนโมกขพลาราม ไชยา เพื่อให้ผู้ปรารถนาจะหาความรู้ทั้งด้านพุทธประวัติและโบราณคดีได้ศึกษา ส่วนที่นำมาจัดแสดงที่สวนโมกข์กรุงเทพเป็นเพียงส่วนน้อยของจำนวนที่จัดสร้างขึ้น
ภาพพุทธประวัติหินสลักชุดแรกของโลก เป็นภาพพุทธประวัติที่ไม่มีการแสดงรูปของพระพุทธเจ้าเป็นรูปมนุษย์แต่ใช้สัญลักษณ์แทนเช่น ความว่าง สวัสดิกะ รอยพระบาท เสาไฟ สัญลักษณ์ตรีรัตนะ
ทำไมถึงไม่มีการทำพระพุทธรูป ?
๑)คนในสมัยนั้นมีวัฒนธรรมทางจิตวิญญาณที่ลึกซึ้งจนเห็นว่าการบูชารูปเคารพเพื่ออ้อนวอนขอให้ช่วยเหลือนั้นเป็น ลักษณะของคนเขลาและคนขลาด
๒)คนในสมัยนั้นมีความเข้าใจศาสนาเป็นอย่างดีจนเห็นว่าพระพุทธเจ้าไม่ใช่สิ่งที่แสดงได้ด้วยรูปของมนุษย์ ถ้าแสดงด้วยรูปมนุษย์แล้วก็เท่ากับเป็นการตู่หรือแสดงความเท็จเพราะไม่มีใครสามารถทำภาพหน้าตาของพระพุทธเจ้าให้เหมือนตัวจริงได้
๓)ถ้าพระพุทธรูปที่ทำขึ้นแตกหักผู้พบเห็นจะรู้สึกไม่สบายใจ แต่ถ้าใช้สัญลักษณ์ถึงแม้จะแตกหักไปก็ยังคงมีความศักดิ์เหมือนเดิม ถ้าใช้สัญญลักษณ์เป็นความว่างก็ไม่มีสิ่งใดทำลายความว่างได้ และยังสอดคล้องกับคำสอนของพระพุทธเจ้าเกี่ยวกับเรื่องอนัตตา สุญญตา
เรามาศึกษาอะไรที่สวนโมกข์ : ภาพปริศนาธรรม
ภาพเหล่านี้มันไม่ใช่ภาพศิลปะจัดขึ้นเพื่อประกวดประชันประขันอะไรกัน มันไม่ใช่ภาพศิลปะ มันเป็นภาพสำหรับการเพ่ง เพ่งพิจารณาให้รู้ความจริงข้อใดข้อหนึ่งที่จำเป็นที่สำคัญมากที่เกี่ยวกับชีวิตคนเรา อย่าดูมันอย่างภาพศิลปะ มันไม่ได้มุ่งหมายอย่างนั้น จะดูอย่างภาพศิลปะก็ได้ไม่ห้าม มันก็เป็นศิลปะอันหนึ่งอย่างหนึ่งเหมือนกัน แต่ว่าเรามุ่งหมายว่ามันจะเป็นอารมณ์ของสมาธิ เราต้องดูด้วยความเป็นสมาธิให้ลึกทะลุภาพไปถึงชีวิตจิตใจเราเอง ถ้าว่าจะมาศึกษาอะไรบ้างในจุดนี้โดยลำพังตนเองแล้วพยายามทำอย่างนั้น อย่าศึกษากันเพียงว่ามันเป็นภาพหรือเป็นภาพศิลปะแต่มันเป็นภาพธรรมะ เรียกว่า ภาพปริศนาธรรม เอาเก้าอี้ตัวหนึ่งวางไว้ตรงหน้าภาพใดภาพหนึ่งที่เราต้องการจะศึกษา แล้วก็ดูให้ออกเสียก่อนว่ามันภาพอะไร มันเป็นเส้น ๆ นี่มันภาพอะไร เดี๋ยวดูจะดูไม่ออก แล้วภาพนั้นมีความหมายอย่างไรก็ต้องคิดกันมาก แล้วอีกทีหนึ่งว่ามันได้แก่ตัวเราอย่างไร ทุกภาพจะเกี่ยวข้องกับตัวเรา ๆ จะเป็นเรื่องของเราเป็นเรื่องในจิตใจของเรา เกี่ยวข้องกับชีวิตของเราในแง่ใดแง่หนึ่งมุมใดมุมหนึ่งของภาพ ฉะนั้นจึงมีมาก มันต้องการเวลามากที่จะศึกษา ถ้ามีเวลาว่างเมื่อไหร่ก็มาศึกษาในจุดนี้ ไม่ใช่เพียงแต่ดูผ่าน ๆ ไป จะรู้จักพุทธศาสนาได้จากภาพเหล่านี้แล้วจะรู้จักชีวิตจิตใจของตัวเองอย่างลึกซึ้งได้ก็ด้วยภาพเหล่านี้ เพราะมันเป็นภาพที่เลือกสรรมาจากภาพหลายหมื่นหลายพันภาพ หลายพันหลายหมื่นภาพที่เราคัดเลือกมาได้เพียงเท่านี้ พุทธทาสภิกขุ ที่มา อบรมนักเรียนฝึกหัดครูสงขลารุ่น 2 ปี พ.ศ. ๒๕๑๕ เรื่อง เรามาศึกษาอะไรที่สวนโมกข์ #จดหมายเหตุพุทธทาส 4115151128010 |
วันเวลาและสถานที่
ทุกวันเสาร์ อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์
มีสองรอบ รอบเช้าเวลา ๑๐.๐๐ น. และ รอบบ่าย ๑๓.๓๐ น. (ใช้เวลาประมาณ ๒ ชั่วโมงต่อรอบ)
ยกเว้น วันอาทิตย์สัปดาห์แรกของเดือน มีเฉพาะรอบบ่าย จุดนัดพบ ที่หน้าสโมสรธรรมทาน ชั้น ๑
ติดต่อสอบถาม
ฝ่ายกิจกรรม สวนโมกข์กรุงเทพ โทร. ๐ ๒๙๓๖ ๒๘๐๐ ระหว่างเวลา ๐๙.๓๐ - ๑๗.๐๐ น. ทุกวัน