Recommend Print

เมื่อไสยศาสตร์ท้าทายพุทธทาสภิกขุ

เมื่อไสยศาสตร์ท้าทายพุทธทาสภิกขุ

สมบัติ ทารัก
เจ้าหน้าที่จดหมายเหตุ
หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ

ข้าพเจ้าขอมอบชีวิตและร่างกายนี้ ถวายแด่พระพุทธเจ้า, ข้าพเจ้าเป็นทาสของพระพุทธเจ้า, พระพุทธเจ้าเป็นนายของข้าพเจ้า เพราะเหตุดังว่ามานี้ ข้าพเจ้าจึงชื่อว่า ‘พุทธทาส’" 

ด้วยความตั้งใจอันแน่วแน่ที่จะดำเนินตามรอยบาทพระพุทธเจ้าและอุทิศตนเป็นทาสผู้ซื่อสัตย์ พุทธทาสภิกขุเพียรพยายามนำเอาพระธรรมคำสอนที่เป็นแก่นแท้ของพุทธศาสนาออกมาเผยแผ่แก่สาธุชน ประดิษฐ์และคิดค้นวิธีการเผยแผ่พุทธธรรมในหลากหลายแบบ ทั้งนี้ก็เพื่อให้พระธรรมของพระพุทธเจ้าขจรขจายนำมาสู่การดับทุกข์ได้จริง 

“เราก็สนองพระพุทธประสงค์ให้ธรรมะมีอยู่ในโลก สำหรับคุ้มครองโลก ทรงโลกไว้ไม่ให้แตกทำลายไปเสีย และให้เจริญก้าวหน้าไปในทางที่ถูกต้อง เดี๋ยวนี้มันกำลังเจริญก้าวหน้าไปในทางผิด คือสร้างเหยื่อของกิเลสขึ้นมาในโลกให้เต็มไปหมด ทุกคนมึนเมาด้วยเหยื่อของกิเลส แล้วก็ประหัตประหารกัน แล้วอะไรมันจะเหลือนอกจากความวินาศ...เดี๋ยวนี้โลกกำลังอยู่ในลักษณะที่ว่าเป็นทุกข์ เพราะมนุษย์หรือคนนั้นมันสร้างขึ้นมาเอง นี่มันโง่สักเท่าไร และมันบ้าสักเท่าไรที่มันสร้างสิ่งที่จะทำให้ตนเองเป็นทุกข์ขึ้นมาในโลกจนเต็มไปหมด ไม่ระมัดระวังให้ดี ไม่กระทำแต่สิ่งที่ควรทำ มันไปทำสิ่งที่ส่งเสริมกิเลสหรือเป็นเหยื่อของกิเลสให้มันหลงใหลอยู่ในเหยื่อเหล่านั้นให้มากยิ่งขึ้นๆ มันกินเกิน มันแต่งเนื้อแต่งตัวเกิน มันใช้สอยเกิน มันเล่นหัวเกิน มันอะไรๆ ก็แต่เกินไปตามอำนาจของกิเลส นี่พระธรรมกำลังไม่มี กำลังหายไป เราจะต้องนึกถึงสิ่งนี้เพื่อความเป็นพุทธบริษัทที่สนองพระพุทธประสงค์ดังที่กล่าวแล้ว”

(ที่มา : ธรรมเทศนา อาสาฬหบูชา ปี พ.ศ. ๒๕๒๒) จนสามารถเป็นผู้สงบเย็นและเป็นประโยชน์ อยู่ในโลกแต่มีใจเหนือโลก

วิธีการที่ไม่มุ่งตรงไปสู่ความหมดทุกข์หรือทุกข์น้อยลงพุทธทาสภิกขุจะพยายามไม่ข้องแวะ ทั้งวัตรปฏิบัติของพุทธทาสภิกขุก็ไม่ได้แสดงออกเป็นเกจิอาจารย์ทางขลังศักดิ์สิทธิ์ หากแต่ยังมีผู้ศรัทธาบางคนเข้าไปรบเร้าขอให้อวยชัยให้พร เสกเป่า โดยไม่สนใจในคำสอนที่ให้มุ่งลด ละ เลิกกิเลส ลดตัวกู ของกูลงแต่อย่างใด หรือไม่สนใจเงี่ยหูฟังพระธรรม หวังจะได้เพียงสิ่งมงคลสักการะเพื่อความสบายใจของตน เหตุการณ์ลักษณะนี้มีหลายกรรมหลายวาระ หนักข้อเข้าพุทธทาสภิกขุถึงกับพูดอย่างรุนแรง ดังเมื่อครั้งแสดงธรรมล้ออายุ ปี พ.ศ. ๒๕๒๕ เรื่อง อยากจะร้องไห้ เพราะจะต้องรักษาไสยศาสตร์ไว้สำหรบคนปัญญาอ่อน กัณฑ์เช้าว่า

“น่าเศร้าอยู่ที่ว่าการศึกษาแห่งโลกในยุคปัจจุบันนี้มันส่งเสริมไสยศาสตร์ไปเสียอีก เขาไม่ให้เรียนชนิดที่ให้ลืมหูลืมตา แต่กลับให้เรียนไปในทางที่ต้องการมาก กลัวมาก ยิ่งเหตุการณ์ในโลกเดี๋ยวนี้ปัจจุบันนี้แล้วยิ่งทำให้มนุษย์มีความกลัวมาก มีความต้องการมาก จนไม่ต้องถือหลักอะไรผิดอะไรถูก เอาใจกูได้มากให้กูหายกลัว ฉะนั้นพิธีทางไสยศาสตร์จึงเจริญเต็มไปทั้งบ้านทั้งเมือง เพราะว่ามนุษย์กำลังกลัวมาก และกำลังต้องการมาก มาให้ช่วยรดน้ำมนต์ที ให้เป่าหัวที อาตมาว่าทำไม่เป็นโว้ย เขาก็ยังไม่เชื่อ เดือนๆ หนึ่งมาหลายๆ คนให้เป่าหัวที บอกว่าทำไม่เป็นๆ พูดตั้ง ๓ ครั้งก็ยังไม่เชื่อ นี่แหละไสยศาสตร์มันลงรากถึงขนาดนี้”

แม้ในหมู่ภิกษุด้วยกันเองก็ยังมิได้เข้าใจในการเผยแผ่ธรรมของทาสผู้ซื่อสัตย์รูปนี้ ส่งจดหมายมาขอให้พุทธทาสภิกขุมอบเส้นผมที่ปลงแล้ว พร้อมกับบอกวิธีการให้ภาวนาพุทธมนต์ประจุลงในเส้นผมด้วย เพื่อนำไปประกอบเป็นมวลสารจัดสร้างวัตถุมงคลแจกจ่ายผู้ศรัทธา

 

F:\ไสยศาสตร์กับพุทธทาส\เกี่ยวกับเรื่องส่วนตัว.jpg

แม้พุทธทาสภิกขุจะประกาศจุดยืนชัดเจนว่าไม่สามารถทำตามคำร้องขอด้านไสยเวทวิทยาก็หามีคนยอมรับฟังไม่ ไสยศาสตร์ที่คนส่วนใหญ่เชื่อว่าจะอำนวยผลตามที่เขาปรารถนาได้รุกคืบเข้าไปจนถึงเนื้อถึงตัวท่านเลย 

ท่านก็มีวิธีการจัดการหรือหาทางออกได้บางครั้งก็เจ็บแสบ หรือขำขัน อาทิ มีผู้คนมักไปขอหวยกับท่านอยู่เป็นประจำ ท่านก็บอกให้ไปขอกับ “สมพาล” ซึ่งเป็นสุนัขที่ท่านเลี้ยงไว้แต่มีนิสัยเกเร คนฟังก็มักนึกว่าเป็น “สมภาร” ที่หมายถึงเจ้าอาวาส เดินตามหาทั่ววัด เมื่อรู้ความจริงแล้วไม่รู้จะนึกโทษใครดีนอกจากตัวเอง คนห่างไกลที่ไม่เข้าใจในวัตรปฏิบัติของพุทธทาสภิกขุยังไม่เท่าไหร่ แต่ผู้อยู่รับใช้ใกล้ชิดจนเรียกตนเองว่าลูกศิษย์ ก็กระทำการสวนทางกับคำสอนของท่านดังมีลูกศิษย์คนหนึ่งขอร้องอ้อนวอนให้ท่านเจิมรถยนต์ให้ เหตุการณ์นี้ท่านบันทึกในบัตรย่อเรื่องเตรียมเทศนาวันล้ออายุ ปี ๒๕๒๒ เอกสารจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ. เกี่ยวกับส่วนตัว. (2522). BIA 3.1/10 กล่อง 3 หน้า 25. รายละเอียดอยู่ใน ธรรมบรรยายล้ออายุ ปี ๒๕๒๒ กัณฑ์บ่าย ความว่า...

“คนเขามาบอกว่าช่วยเป่าหัวทีเป่ากระหม่อมทีอย่างนี้มันมีทุกเดือน เดือนละหลายๆครั้ง  แล้วบางรายก็เป็นผู้หญิงด้วยก้มหัวเข้ามาให้ช่วยเป่าหัวที เป่ากระหม่อมทีจะทำได้อย่างไร นี้เข้าใจว่าคงมีที่อื่นทำไม่อย่างนั้นเขาคงไม่ทำกับเราที่นี่อย่างนี้ อาตมาบอกเขาว่าทำไม่เป็นไม่ได้ศึกษา มีผู้ชายคนหนึ่งเขาก็ ชิ เขามองตาอาตมาถลน เพราะอาตมาบอกทำไม่เป็นไม่ได้ศึกษาไอ้เรื่องเป่าหัวนี่ นี้ก็ยังคงมีอยู่ยังคงมีอยู่แม้จนวันนี้ จนบัดนี้มันก็ยังมีคนเข้าไปก้มหัวเข้าไปเกือบจะถึงตัวให้เป่าหัวที บอกว่าทำไม่เป็นแสดงว่าเขาไม่เชื่อ เรื่องรดน้ำมนต์ ทีนี้จะมากกว่าเป่าหัวซะอีก บอกว่าไม่ได้ทำ ยังไม่ได้ทำ น้ำมนต์ยังไม่ได้ทำ มันก็มีที่อื่นทั่วๆ ไปแล้ว มากแล้วก็ไม่ต้องทำ บางทีก็ขอพระเครื่องบอกไม่ได้ทำ มันมีมากทั่วไปทุกหนทุกแห่งแล้วคุณไปเอาแห่งละองค์ละองค์ เอามาแขวนเถอะคอหักตาย ที่นี่ไม่ต้องทำ มันก็มีสีหน้าไม่ชอบใจโกรธหรือขัดใจ  เป็นเรื่องที่เป็นปัญหาอยู่ตลอดเวลาจนกระทั่งเดี๋ยวนี้

C:\Users\bia\Desktop\นิทรรศการ ส.ค.ศ\c00656.jpg

อาตมาหมดปัญญาไม่รู้จะแก้ปัญหานี้อย่างไร ใครฉลาดก็ช่วยบอกหน่อยว่าจะแก้ปัญหานี้กันอย่างไร ซื้อรถยนต์มาใหม่เอามาให้ช่วยเจิม นั่งอ้อนวอนอยู่นั่นแหละ บางทีก็เป็นเด็กใกล้ชิดสนิทสนมด้วยไม่รู้จะทำอย่างไร อาตมาก็เอาแป้งมาเขียนที่กระจกเป็นรูปตัว อ. แล้วก็ตัว ป. และก็ตัว สุ ; อ. คือ อปมาท แกอย่าอวดดี อย่ากินเหล้า ขับรถอย่าง่วงนอน ขับรถอย่าประมาท  และก็ ป. คือ ประหยัด  คือ ถ้าเก็บค่าโดยสารได้แล้วให้ประหยัดไว้สำหรับใช้ซ่อมรถต่อไปข้างหน้า อย่าเอามากินเหล้าเสียหมด ใช้จ่ายเสียหมด ป. ให้ประหยัด มันก็จะมีเงินซ่อมรถหรือว่ามีเงินใช้ แล้วก็ สุ ว่า สุภาพ ถ้าแกเป็นคนสุภาพก็จะไม่ถูกคนโดยสารหรืออันธพาลตีหัวแตกตาย

ถ้าถือ อ. อปมาท –ไม่ประมาท ถือ ป. คือ ประหยัดอย่างยิ่ง ถือ สุ คือ สุภาพ นี่เจิมรถยนต์เขียนหนังสือให้ ๓ ตัว มันก็ปรากฏว่ายังไม่มีเรื่อง ไอ้พวกที่ได้รับเจิมไปนั้นมันยังดีดีกันอยู่ ไอ้เจิมอย่างอื่นก็ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร ไม่ได้เรียนจริงๆ มันไม่เรียนว่าเจิมแจมนี่ทำกันอย่างไร ก็ได้แต่ทำอย่างนี้ นี่ถ้ามันผิดเขาบ้างก็เป็นเรื่องที่น่าหัวน่าล้อเหมือนกัน”

ความนิยมแสวงหาสิ่งมงคลภายนอกใช่จะมีแต่สมัยนี้เท่านั้น สืบย้อนเรื่องราวไปตั้งแต่ก่อนพุทธกาลทั้งมนุษย์และเทวดาก็ปรารถนาสิ่งมงคลไว้กับตน ดังปรากฏในอรรถกถาอธิบายมงคลสูตร เทวดาไปกราบทูลถามพระพุทธเจ้าถึงเรื่องดังกล่าว พระองค์ทรงชี้แนะการประพฤติปฏิบัติเช่นไรที่ชื่อว่าเป็นมงคลถึง ๓๘ ประการ พุทธจริยาที่ไม่หักหาญระรานน้ำใจ พระองค์ตีความใหม่หรือเสนอทางเลือกที่ดีกว่าโน้มนำให้ผู้คนเห็นจริงในสิ่งที่พระองค์เสนอนั้นว่าดีกว่าเดิมอย่างไร พุทธทาสภิกขุก็มีแนวปฏิบัติเช่นนั้น อาทิ เหงื่อคือน้ำมนต์ การทำงานคือการประพฤติธรรม เราดีดีกว่าดวงดี เป็นต้น

“สิ่งที่จะทำมนุษย์ให้เป็นสุขอันแท้จริง คือความเข้าใจอันถูกต้องในความเป็นมนุษย์ของตนเองต่างหาก คือ รู้จักตัวเอง รู้จักกิเลส รู้จักผลของความไม่มีกิเลส หรือที่เรียกตามหลักพุทธศาสนาว่า รู้จักทุกข์ รู้จักเหตุแห่งทุกข์ รู้จักความไม่มีทุกข์เลย และรู้จักวิธีทำให้ถึงความไม่มีทุกข์เลย การกุศลอันสูงสุด จึงคือการทำให้มนุษย์ทั้งโลกมีความเข้าใจอันถูกต้อง ดังกล่าวแล้ว” (ห้าสิบปีสวนโมกข์ : เราพูดถึงเรา , น. ๓๐๘ – ๓๐๙)