กลวิธีสื่อธรรมโดยใช้กวีนิพนธ์ของพุทธทาสภิกขุ : กรณีศึกษา นิราศลพบุรี
พุทธทาสภิกขุถือว่าเป็นผู้นำนวัตกรรมด้านการเผยแผ่ธรรมแตกต่างจากแบบแผนที่เคยปฏิบัติกันมา ซึ่งตามปกติเมื่อพระภิกษุแสดงธรรมนิยมนั่งเรียบร้อยอยู่บนธรรมมาสน์ถือคัมภีร์แสดงพระธรรมเทศนาตามสำนวนที่เรียกว่า อารามิกโวหาร ท่านเปลี่ยนมาเป็นบรรยายธรรม ปาฐกถาธรรม ใช้ภาษาร่วมสมัยที่ผู้ฟังเข้าใจง่าย หรือสมัยแรกๆ ถึงกับยืนแสดงธรรม ตามที่ท่านเล่าว่า
“ความคิดที่จะใช้ปาฐกถาแทนเทศน์ มันเกิดจากรู้สึกว่าของเดิมเต็มสมัยแล้ว คิดจะเอาอย่างสากลเสียบ้าง ยืนบรรยายแบบสากล แต่มันผิดวินัยตามตัวหนังสือห้ามพูดกับผู้ฟังที่นั่งอยู่ ไม่เป็นไข้ ยืนแสดงธรรมกับผู้นั่งเป็นอาบัติทุกกฎ แต่เราตีความวินัยว่าเป็นคนละยุค คนละสมัย คนละถิ่น คนละประเทศ”
การเผยแผ่ทางหนังสือมีทั้งบทความลงพิมพ์ใน หนังสือพิมพ์พุทธสาสนา การใช้กวีนิพนธ์สื่อธรรมเป็นอีกสื่อหนึ่งที่ท่านใช้เป็นเครื่องมือและมีอยู่เป็นจำนวนมาก กวีนิพนธ์ของท่านมีผู้ท่องจำอย่างแพร่หลายมากบทด้วยกัน อาทิ
มองแต่แง่ดีเถิด
เขามีส่วน เลวบ้าง ช่างหัวเขา จงเลือกเอา ส่วนที่ดี เขามีอยู่
เป็นประโยชน์ โลกบ้าง ยังน่าดู ส่วนที่ชั่ว อย่าไปรู้ ของเขาเลย
จะหาคน มีดี โดยส่วนเดียว อย่ามัวเที่ยว ค้นหา สหายเอ๋ย
เหมือนเที่ยวหา หนวดเต่า ตายเปล่าเอย ฝึกให้เคย มองแต่ดี มีคุณจริง
ไม่ควรฟุ้ง ฟื้นฝอย หาตะเข็บ ถ้าเผลอมัน กัดเจ็บ จะยุ่งขิง
เสียเวลา ไม่คุ้มค่า ควรประวิง ทุกๆ สิ่ง มองแต่ดี มีอยู่พอ
เป็นมนุษย์ หรือ เป็นคน ?
เป็นมนุษย์ เป็นได้ เพราะใจสูง เหมือนหนึ่งยูง มีดี ที่แววขน
ถ้าใจต่ำ เป็นได้ แต่เพียงคน ย่อมเสียที ที่ตน ได้เกิดมา
ใจสะอาด ใจสว่าง ใจสงบ ถ้ามีครบ ควรเรียก มนุสสา
เพราะทำถูก พูดถูก ทุกเวลา เปรมปรีดา คืนวัน ศุขศันติ์จริง
ใจสกปรก มืดมัว และร้อนเร่า ใครมีเข้า ควรเรียก ว่าผีสิง
เพราะพูดผิด ทำผิด จิตประวิง แต่ในสิ่ง นำตัว กลั้วอบาย
คิดดูเถิด ถ้าใคร ไม่อยากตก จงรีบยก ใจตน รีบขวนขวาย
ให้ใจสูง เสียได้ ก่อนตัวตาย ก็สมหมาย ที่เกิดมา อย่าเชือนเอย ฯ
ความโดดเด่นทางกวีนิพนธ์ของพุทธทาสภิกขุเป็นที่ยอมรับจนถึงกับได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ที่ พระราชชัยกวี – กวีแห่งเมืองไชยา เลยทีเดียว ความสามารถนี้ใช่ว่าจะเกิดขึ้นเองหรือโชคช่วยหากแต่เพราะความพากเพียรฝึกฝน
อิทธิพลจากบิดาและอา
“...โยมชอบแต่งกลอน แต่งโคลง ชอบกวี มีวิญญาณกวี ทำให้เราชอบ มีหัวทางนี้ ผมเคยเห็นโยมเขียนแต่งไว้ที่ศาลาป่าช้าที่แกสร้าง ส้วมวัดที่แกสร้างถวายก็เขียนเป็นโคลงไว้ และชอบแต่งโคลงหยูกยา เราเห็นในสมุด เราเลยชอบโคลงเหมือนกัน แกแต่งได้ถูกต้องตามแบบฉบับ แต่ไม่ค่อยมีเวลาแต่งนัก... อาก็เหมือนกัน ที่ชื่อเสี้ยง มีหัวแต่งโคลงแต่งกาพย์ ชอบแต่งล้อไสยศาสตร์ คุณไปเปิดดูเถอะในหนังสือพิมพ์ พุทธสาสนา เล่มแรกๆ มันมีนามปากกว่า “ท่านางสังข์” แต่งล้อไสยศาสตร์ละก็คนนี้แหละ เป็นกาพย์ยานีเสียโดยมาก...”
“...ท่านเพียงแต่ชมว่าแปลหนังสือดี ชมทั้งต่อหน้าและลับหลัง ชมลับหลังนั้นหลวงบริบาลมาเล่าให้ฟัง ว่าท่านสรรเสริญผมว่าแปลดีให้ลูกศิษย์ของท่านฟัง ว่าแปลแล้วอ่านรู้เรื่อง ฟังดูไม่ใช่จริงจังนัก อาจจะคล้ายกับว่าพูดปลุกเร้าน้ำใจพระทั้งหลายให้ขันแข็ง ดูพระในป่าซึ่งไม่น่าจะเป็นไปได้ ยุให้เกิดกำลังใจ ทำงานอย่างแข็งขัน... แล้วต่อมา สมเด็จฯ ท่านแสดงความประสงค์ว่าอยากจะพบ ผมก็ไปกราบนมัสการท่าน แต่ก็ไม่ได้พูดคุยอะไรกันมาก นอกจากชมว่าแปลดี แล้วให้ผ้าไตรมาเป็นกำลังใจ เป็นรางวัล (หัวเราะ)”
สนใจใฝ่ศึกษา หาแบบอย่างแต่เก่าก่อน
ด้วยความสนใจในกวีนิพนธ์ของพุทธทาสภิกขุจึงเสาะแสวงหาจากการอ่านและศึกษาแบบอย่างการใช้ฉันทลักษณ์ของกวีรุ่นก่อนตามที่ท่านเล่าไว้ว่า
“แบบของที่มีอยู่ก่อน ที่เราพยายามท่องจำไว้ก็มาก คำฉันท์ของกรมพระปรมานุชิตชิโนรส คำโคลงโลกนิติก็เคยพยายามท่อง ของครูเทพเราก็ชอบ ของรัชกาลที่ ๖ ก็รู้สึกนิยม เพราะเป็นเรื่องใหญ่ เรื่องทำยาก ที่ท่านแปลจากเช็คสเปียร์ท่องจำไว้ได้หลายตอน เรื่อง “ธรรมา – ธรรมะสงคราม” ก่อนนี้จำได้เกือบหมด เดี๋ยวนี้ลืมเกือบหมด (หัวเราะ) แต่ด้วยอะไรไม่รู้ ผมเกิดไม่นิยมสุนทรภู่ ความรู้สึกมันอาจจะเกิดจากเคยได้ยินว่าแกกินเหล้า แกเมาผู้หญิง เลยเหมาเอาว่าคงเอาความรู้สึกอันนั้นมาเขียนกลอน แต่ถ้อยคำของแกก็เพราะดี เรายังเคยแต่งล้อสุนทรภู่... เวลาเราแต่งเอง ก็เลือกแบบให้เหมาะสมกับเรื่องที่จะแต่ง ถ้าไปแปลงของฝรั่งมา ก็จะแต่งเป็นบทดอกสร้อย ที่เป็นคำฉันท์หรือคำโคลงนั้น แต่งล้อกรมหมื่นวิวิธวรรณปรีชา เรื่อง “แม่สอนลูกนิพพาน”
บางเรื่องเราก็ลงทุนแต่งล้อตัวเอง เพื่อให้คนอื่นได้ประโยชน์ก็มี ที่ตั้งใจแต่งจริงๆ ยาวพอสมควร ก็มีแต่นิราศลพบุรี แต่งให้คุณสัญญา คนพาไปเที่ยว กาพย์กลอนนอกนั้นก็แต่งยามว่าง แต่นานๆ เข้ามันก็มากขึ้น จนพอจะพิมพ์เป็นเล่มได้ (หัวเราะ)”
พุทธทาสภิกขุได้รวบรวมประมวลการเขียนและจัดแบ่งออกเป็น ๒ ประเภท คือ ร้อยแก้วและกวีนิพนธ์ ท่านเห็นถึงความสำคัญของกวีนิพนธ์ที่มีพลังในการโน้มนำใจมนุษย์และจดจำข้อความได้ติดตรึง โดยเฉพาะในสมัยที่ยังไม่มีการเขียนหนังสือแพร่หลาย ยังท่องจำสิ่งต่างๆ ไว้ด้วยปาก ตามที่ท่านบันทึกไว้ดังนี้
“...ข้าพเจ้าได้พบด้วยตนเองว่า กวีนิพนธ์ทำให้แตกฉานในภาษาของตนในเชิงคำยิ่งกว่าอย่างอื่นหมด ทั้งเป็นการช่วยให้จำข้อความที่เปนสาระสำคัญไว้ได้ง่ายเข้า, แก้รำคาณใจได้ ตรงกับจริตของคนทั่วไป, เพราะฉนั้น นักประพันธ์ควรมีศิลปะในทางฝ่ายกวีนิพนธ์ให้พอตัวด้วย.
สำหรับการเผยแผ่พุทธสาสนา ก็ปรากฏว่าเคยเป็นผลดีมาแล้วแต่ครั้งโบราณ. กาพย์พุทธประวัติของอัศวโฆษ, ประทีปแห่งเอเชียของอารฺโนลดฺ และอื่นๆ เปนตัวอย่างในเรื่องนี้. ถ้าหากมิชชั่นผู้ใด มีความสามารถในฝ่ายนี้ด้วย ก็เปนอันว่าเขามีกำลังในการแผ่ขึ้นอีกเกือบเท่าตัว เพราะกวีนิพนธ์ตรงกับกิเลสของคนทั่วไป ดึงเข้ามาหาธรรมสดวกสักหน่อย.”